คำต่อคำ :: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายทั่วไป ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน

ข่าวการเมือง Friday April 1, 2005 09:15 —พรรคประชาธิปัตย์

          นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายว่า  การเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภาตามคำขอของรัฐมนตรีมาสู่ประเด็นที่ 2 ที่อยู่ในคำขอเปิดสภาคือเรื่องปัญหาความยากจน  ซึ่งกระผมได้กราบเรียนท่านประธานไปเมื่อวานว่า ในหนังสือที่ส่งมา  ไปยึดโยงกับบปัญหา 3 จังหวัด แต่ว่าวันนี้คงจะชัดเจนว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการก็คือการระดมความคิดเห็น ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่ถ้าไปสอบถามพี่น้องประชาชนทั่วประเทศเมื่อใดก็ตาม จะเป็นปัญหาอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ก็คือปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้ไขมากที่สุด และก็คงเป็นความไฝ่ฝันของทุกคนที่อยากให้ความยากจนนั้นหมดไป  จากบ้านเมืองจากประเทศของเรา 
ท่านประธานครับผมก็ถือว่าเป็นโอกาสดี ที่ผ่านมาเราจะไม่มีโอกาสมาระดมความคิดเห็นในเรื่องของความยากจน ที่เป็นระบบจริงๆไม่มากนัก เพราะเราอาจจะมีการพูดถึงความยากจนในบางแง่มุม ในบางกรณีที่เราพิจารณาญัตติเฉพาะเรื่อง หรือเวลาที่เราอภิปรายนโยบายหรือที่เราตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริการ เราก็อาจจะมีโจทย์ เช่นคำแถลงนโยบาย ของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง แต่ว่าวันนี้ก็เป็นโอกาสที่สมาชิกทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางต่อปัญหาๆนี้ ซึ่งเวลาที่เหลืออยู่คงไม่เพียงพอหรอกครับ ที่จะพูดให้ครบทุกมุม
อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลได้เปิดโอกาสแล้ว ผมก็ขอใช้เวลาพูดถึงประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็น โดยจะเริ่มจากการพูดถึงมุมมองของกระผมที่มีต่อประเด็นความยากจน ไปจนถึงแนวนโยบายที่ปรากฎอยู่ในคำแถลงนโยบายและการกล่าวในโอกาสต่างๆของท่านนายกฯ เกี่ยวกับความพยายามในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ รวมไปถึงการหาข้อมูลบางอย่าง เพื่อที่จะให้คำตอบกับเราได้ว่าที่ผ่านมาปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อความยากจน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปและข้อเสนอว่าทิศทางของการบริหารต่อไป เราควรทำอย่างไร ในการแก้ไขคลี่คลายปัญหานี้
ท่านประธานในญัตติที่รัฐบาลเสนอมานั้นจะพูดสั้นๆเพียงแต่ว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด และสรุปครับว่าคนจนในประเศไทยนั้นมีสัดส่วนลดลง จากปี 2543 ที่มี 8.9 ล้านคน มาถึงปีที่แล้วนั้นเหลือ 6 ล้านคน แต่ว่าปัญหาดังกล่าวนั้นก็ยังคงมี
ท่านประธานครับความจริงเรื่องของความยากจนเป็นหนึ่งในปัญหา ที่รัฐบาลเมื่อ4 ปีที่แล้ว ได้ประกาศสงครามกับความยากจนกับยาเสพติด กับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แต่ว่าอย่างไรก็ตามนโยบายที่รับบาลได้ใช้ใน 4 ปีที่ผ่านมา ก็จะเป้นนโยบายในบางเรื่องซึ่งก็เป็นความคาดหวังของพี่น้องคนยากคนจนทั้งประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการพักชำระหนี้ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
เมื่อมาถึงวันนี้ปัญหาก็ยังคงอยู่ โดยดูจากตัวเลข 6 ล้านคนที่รัฐบาลเสนอมานั้นก็หมายความว่าเราคงต้องช่วยกันคิดมากขึ้นว่าถ้าจะลดลงมาจาก 6 ล้านคน หรือจะลดความยากจนอย่างที่นายกนประกาศเป้าหมายให้ได้ ภายใน 4 ปี หรือภายในรัฐบาลนี้ เราต้องคำนึงถึงอะไรอย่างไรบ้าง ที่จริงตัวเลข 8.9 ล้านคนปี43 6ล้านคนปี47 ก็อาจจะมีอาจจะมีคำถามตัวเลขนี้มาอย่างไร คำตอบก็คือว่าขณะนี้รัฐบาลได้ถือเกณฑว่าใครจะเป็นคนจนหรือไม่จนให้วัดกันที่รายได้จึงถือเกณฑ์ว่ารายได้ต่ำเท่านั้นเท่านี้บาทต่อเดือนซึ่งกระผมเข้าใจว่าตัวเลขที่ใช้อยู่ขณะนี้คือ 900กว่า บาทต่อเดือน ถ้าใครมีรายได้เกินนั้นถือว่าไม่จน
ผมกราบเรียนเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกว่าผมยอมรับว่าเป็นรื่องยากที่เราจะหาตัวชี้วัดอื่นที่ง่ายต่อการวัดและความเข้าใจ ต่สิ่งที่กำลังจะกราบเรียนก็คือว่าการจะตีโจทย์ในเรื่องความยากจนนั้นเราต้องไม่พยามจำกัดตัวเองอยู่แต่เฉพาะเรื่องของการวัดรายได้ต่อเดือนต่อหัว เพราะว่าในความจริงแล้วเรืองของความยากจนนั้น เป็นเรื่องที่มีหลายมิติมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง กระผมกราบเรียนว่าเส้นของความยากจนที่วาดขึ้นมานั้นก็เป็นตัวเลขสมมุติซึ่งความจริงก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเงิน900 กว่าบาทปีนี้ ก็ซื้อสิ่งอุปโภคบริโภคได้น้อยลง ฉะนั้นเราอาจจะใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางได้เพียงเท่านั้นแต่สามารถมาตัดสินได้ทุกอย่างตรงนี้ และอยากให้รัฐบาลคำนึงถึงแง่มุมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความยากจนดังต่อไปนี้
ประการแรกก็คือว่าความยากจนนั้น ว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องของความรู้สึกด้วย คนในสังคมจะมีความรู้สึกว่าตนเองยากจนหรือไม่ หรือถูกมองว่ายากจนหรือไม่ นอกเหนือจากการวัดรายได้เป็นตัวเลข มันต้องมีการเทียบเคียงกับมาตรฐานการครองชีพของคนเท่าไปสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่ามันทำให้ปัญหาความยากจนนั้นผูกพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับปัญหารายได้กับการกระจายทรัพย์สิน หรือการกระจายอื่น เพราะแม้หลายๆคนอาจจะมีรายได้เกิน 900 กว่า พ้นซึ่งความยากจนที่วาดอยู่ในวันนี้ก็ตาม แต่ถ้ามองว่าบรรทัดฐานในสังคมคนทั่วไปรายได้เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่าไปกว่าปัจจุบันมาก เขาก็จะมีความรู้สึกว่าในสังคมยังเป็นคนที่เป็นคนด้อย ของโอกาส การครองชีพความเป็นอยู่ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาความยากจน จะต้องคำนึงถึงการกระจายรายได้ และอื่นๆ รวมทั้งจะต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานที่ปรากฎอยู่ในสังคม ในแง่ของการครองชีพที่ถือได้ว่าอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ไม่มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ประการที่ 2 ก็คือว่าความยากจนที่มีมิติกว้างไกลไปกว่าเรื่องของรายได้ก็คือจะเกี่ยวข้องกับเรื่องวิถีชีวิตของคนในสังคม จริงๆแล้วเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาของเราให้ประชาชนนั้น เราอาจจะพูดได้ว่า ถ้าจะไปวัดเพียงตัวเงินว่าจนไม่จนนั้น มันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด หรือเป้าหมายท้ายสุด แต่เราน่าจะคำนึงถึงเรื่องของความสุข เรื่องของคุณภาพชีวิต ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรคำนึงถึงเช่นเดียวกัน เพราะว่าถ้าลำพังวัดแต่เพียงแต่เรื่องของรายได้ที่เป็นตัวเงิน บางทีไม่ได้สะท้อนในแง่ของความสุขความพึงพอใจ หรือคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะถ้าเราไม่ระมัดระวังและยึดเฉพาะเรื่องของตัวเงินนั้นบางครั้งการแก้ไขปัญหาที่เรามองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนอาจจะไปซ้ำเติมในแง่ของคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เช่นไปกระทบกระเทือนกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ในชุมชน อันนี้ก็เป็นข้อเตือนใจข้อที่ 2 ที่อยากให้รัฐบาลคำนึงถึง
ประการสุดท้ายที่เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นก็คือว่าเราไม่ควรมองปัญหาของความยากจน หรือว่าใครเป็นคนจนหรือไม่ เหมือนกับเป็นสิ่งที่หยุดอยู่กับที่ บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาความยากจนก็เช่นเดียวกัน และแม้วันนี้รัฐบาลอาจจะบอกว่ามองเห็นว่าคนยากจนคือใครอยู่ที่ไหนบ้าง ผ่านกระบวนของการขึ้นทะเบียนหรือผ่านโครงการคาราวานคนจนก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าความเปลี่ยนแปลง ความผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม สามารถที่จะทำให้คนจนมีโอกาส ที่จะพ้นจากความยากจนฉันท์ใด ก็สามารถทำให้คนปัจจุบันที่ไม่ใช่คนยากจนกลับไปอยู่ในสภาพของความยากจนได้ฉันท์นั้น
เราจะเห็นจากอดีตครับว่า วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินอัตราแลกเปลี่ยนในส่วนของพี่น้องเกษตรบางทีได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทตกต่ำ แต่ค่าเงินบาทที่ตกต่ำครั้งนั้นก็ทำให้ใครก็ตามที่มีหนี้ต่างประเทศ หนี้เพิ่มขึ้นทันทีเกือบเท่าตัว จากที่ไม่จน บางคนอาจจะถึงขั้นเป็นเศรษฐีด้วยซ้ำ ก็กลับกลายไปเป็นคนจนทันทีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาใดก็ตามต้องคำนึงถึงตรงนี้และไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างหลักประกันความมั่นคงและโอกาสให้พี่น้องประชาชนว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีความแปรปรวนผันผวนอย่างไร เราจะสามารถให้เขาสามารถหลบเลี่ยงสภาวะของความยากจนได้
ท่านประธานที่เคารพครับ เมื่อหันมาดูนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงไว่ต่อสภาเกี่ยวกับเรื่องของความยากจนก็จะเห็นว่า ในหมวดที่ 1 ซึ่งมีการอภิปรายไปอย่างกว้างขวางสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้จำกัดในเรื่องของการแถลงนโยบายไว้ในแง่ของโครงการเฉพาะ โดยมีการพูดถึงโครงการของคาราวานแก้จน มีการพูดถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนที่เรียกกันว่า เอสเอ็มแอล และมีการพูดถึงเรื่องของการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านการผลิต การแปรรูป การตลาดและแหล่งทุน ที่เรียกว่า เอสพีวี นอกจากนั้นผมไปติดตามการมอบนโยบายให้ส่วนราชการและข้าราชการในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านนายกฯก็ได้ย้ำในเรื่องของแนวทางของการขจัดความยากจนไว้ โดยสิ่งสำคัญคือท่านบอกว่า แม้ปัญหานี้จะเป็นเรื่องยาก และก็การจะทำให้สำเร็จแทบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อนั้น ท่านก็พูดถึงว่าขอให้ยึดหลักเมตตาธรรมและได้มีการพูดต่อไป ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะมีการขยายความกันมากขึ้น ก็คือ การแก้ไขปัญหานั้นต้องเป็นการแก้ไขที่ทำทั้งระบบ ไม่ได้ทำแบบปัจเจกบุคคล และก็ได้มีการย้ำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของการเพิ่มรายได้ การลดรายจ่าย และการสร้างโอกาส
กระผมกราบเรียนอย่างนี้ครับว่า ผมอยากให้ทางรัฐบาลได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาในทุกระดับที่คู่ขนานกันไป คือ ระดับประเทศ ระดับชุมชน และระดับบุคคล ตรงนี้เห็นด้วย และแนวทางที่บอกว่าเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส อันนี้ก็ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ว่าการจะเพิ่มรายได้ด้วยวิธีใด ลดรายจ่ายด้วยวิธีใด สร้างโอกาสด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นสำหรับประเทศ หรือสำหรับชุมชน หรือสำหรับประชาชนเป็นปัจเจกชนนั้น ก็อยู่ที่ว่าวิธีทำ และอยู่ด้วยว่าทำแล้วจะมีผลกระทบ ผลข้างเคียงอะไรบ้าง และเป็นวิธีที่มีความยั่งยืนหรือไม่
ผมกราบเรียนสั้นๆในแง่ของข้อสังเกตของหลักคิดทั้งหมดตรงนี้ก็คือว่า ผมยังมองว่า เป็นห่วงว่ารัฐบาลยังอาจจะมองปัญหาความยากจนในกรอบเดิม คือยังมุ่งไปที่เรื่องของรายได้ และมองทำนองว่าหลักที่ใช้ก็เป็นหลักของการสังคมสงเคราะห์ คือมีคนยากคนจนอยู่ เพราะมีรายได้ไม่ถึง ก็ไปช่วยเหลือคนเหล่านั้น ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดี แต่ประเด็นที่เรามีโอกาสมาพูดกันในวันนี้คือขอให้มองทั้งระบบว่า เมื่อมองอย่างนั้น และมองเพียงเท่านั้น บุคคลที่เราบอกเป็นคนยากคนจนนั้นจะสามารถสร้างโอกาสสร้างฐานะให้แก่ตัวเอง สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวหรือไม่ เพราะสิ่งที่เราไม่ต้องการก็คือว่า ถ้าเราเพียงแต่มองเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นในเชิงการสงเคราะห์ และมองเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องของความขาดแคลนในเรื่องของเงิน หรือเรื่องของทุน เราอาจจะหยิบยื่นสิ่งนี้ให้ แต่เป็นการหยิบยื่นให้ในลักษณะชั่วครู่ชั่วยาม และถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมในด้านอื่น เราก็จะพบความจริงว่า สุดท้ายปัญหาไม่หมด และถ้าไม่ระมัดระวังเราอาจจะไปซ้ำเติมปัญหาด้วย เพราะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีลักษณะของการเสพติดนโยบายในเชิงอุปถัมภ์ และรอหรือจำเป็นจะต้องพึ่งรัฐมากขึ้นๆ แทนที่จะสามารถพึ่งตนเองได้
ผมกราบเรียนสิ่งนี้เพราะว่า ผมก็อยากให้มีการเก็บเกี่ยวและประเมินผลของนโยบายที่เป็นนโยบายหลักๆที่รัฐบาลใช้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจะได้กราบเรียนในบางประเด็นต่อไป ท่านประธานครับ จากแนวนโยบายตรงนี้ผมก็อยากให้เราย้อนกลับมาดูข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องของความยากจน โดยอยากจะให้มองในเชิงโครงสร้างและเชิงระบบมากขึ้น ประเด็นที่อยากจะกราบเรียนก็คือว่ารัฐบาลมีนโยบาย มีมาตรการ มีโครงการหลายโครงการครับ ที่พูดถึงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามกับความยากจน แต่ว่าสิ่งที่ผมคิดว่าจะช่วยรัฐบาลให้สามารถทำสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสงครามได้โดยใช้ทรัพยากรของบ้านเมืองซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด และทำให้ได้ผลที่สุดนั้น ก็คือเรื่องของระบบข้อมูล จริงอยู่ครับ ที่ผ่านมาเราก็มีระบบข้อมูลในภาพรวมอยู่บ้าง และรัฐบาลก็ได้เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนไปขึ้นทะเบียบเพื่อแสดงตัวว่ามีความยากจน มีความต้องการ มีความขาดแคลนในเรื่องใด แต่ท่านประธานก็จะเห็นนะครับว่า หลังจากที่ได้มีการขึ้นทะเบียนคนจนไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เราก็ยังขาดความชัดเจนที่จะเชื่อมโยงว่า มาตรการใด โครงการใดจะเข้าไปถึงบรรดาประชาชน คนยาก คนจน ที่มาขึ้นทะเบียนไว้กับภาครัฐและแจ้งปัญหาต่างๆไว้
ที่จริงแล้วข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับความยากจนขณะนี้ อยากจะให้รัฐบาลเร่งไปดูครับ เพราะว่าหลายหน่วยงานทั้งของไทยเอง ทั้งที่ได้รับความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากต่างประเทศ กำลังทำลักษณะของแผนที่ความยากจนที่มีความละเอียดมากขึ้น เพราะว่าจากตัวเลขที่เขาเคยทำกันมา ในอดีตที่ผ่านมา ไม่กี่ปีมานี้ครับ เราพบความจริงอย่างหนึ่งว่า ความยากจนนั้นก็กระจุกอยู่ในบางพื้นที่มากเป็นพิเศษ เช่น ถ้าเราถือเกณฑ์เรื่องรายได้ความยากจน และเรามาเรียงดูว่าแต่ละจังหวัดมีรายได้ต่อหัวเท่าไหร่ เราจะพบความจริงอย่างหนึ่งเลยครับว่า 15 จังหวัดที่จนที่สุดอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครับ ไม่มีจังหวัดในภาคอื่นเข้ามาแทรกเลย แม้แต่ 1 วันครึ่งที่ผ่านมา เราบอกว่า 3 จังหวัดชายแดนอาจจะมีปัญหาเพราะความยากจน แต่ถ้าเราไปดูจริงๆ จะพบว่า 15 จังหวัดที่ยากจนที่สุด ภาคอีสานทั้งสิ้น และถัดขึ้นมามีแทรกมา 2 จังหวัด อยู่ภาคเหนือคือ แพร่ กับ พะเยา ในภาคใต้จังหวัดที่ยากจนที่สุดก็ไม่ใช่ 3 จังหวัดชายแดนเป็น จ.พัทลุง ยะลา นราธิวาสนั้น ก็อยู่ในลำดับที่ยากจนถัดมาครับ แต่กรณีของปัตตานีนั้น ที่จริงแล้วถือว่าอยู่ตรงกลางนั้น ถ้าเรียงจังหวัด 76 จังหวัดตามความยากจน ปัตตานีก็อยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้นจริงๆแล้วถ้าเราสามารถทำข้อมูลที่ลึกลงไปในรายละเอียด เราจะเริ่มมองเห็นว่าเราจำเป็นที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจนตรงใดมากเป็นพิเศษ
15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บวกกับอีก 4,5 จังหวัดถัดมา มีคนวิจัยมาแล้วว่า ครอบคลุม 2 ใน 3 ของความยากจนทั้งหมดที่มีในประเทศไทย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นตัวที่ทำให้รัฐบาลฉุกคิดว่า มาตรการในการแก้ปัญหาความยากจนนั้น น่าจะมีลักษณะของการพุ่งตรงที่เป้าหมายของพื้นที่มากขึ้น ไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องเป็นมาตรการเหมารวมเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะจะทำให้การใช้ทรัพยากรนั้นขาดประสิทธิภาพ 15 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถ้าเขาได้รับการดูแล มีมาตรการเฉพาะเป็นพิเศษ นั่นจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากกว่าในการต่อสู้กับปัญหาความยากจน จริงๆแล้วถ้าท่านประธานดูลึกลงไปในระดับจังหวัด เขาสำรวจลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน ยิ่งชัดครับ เอาหมู่บ้านมาเรียงกันตามลำดับของความยากจน จะพบว่าหมู่บ้านที่ยากจนที่สุด 1 ใน 4 คือ ประมาณร้อยละ 25 เกือบจะครอบคลุมเรื่องของความยากจนทั้งหมด
ฉะนั้นผมคิดง่ายๆว่าจริงอยู่เวลาเราทำโครงการบางโครงการ เราถือว่าเป็นโครงการระดับชาติ เช่น กองทุนหมู่บ้าน เราก็ต้องดูแลทั้ง 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน เพื่อความเสมอภาคตามแนวทางของรัฐบาล แต่ถ้าเราอยากจะทำสงครามจริงจังกับความยากจนจริงๆ หมู่บ้านที่จนที่สุดเพียงร้อยละ 25 ควรจะเป็นเป้าหมายพิเศษ และเราจำเป็นจะต้องเข้าไปดูลึกลงไปด้วย เพราะว่าแนวทางที่ทำในลักษณะภาพรวมอย่างนี้ ก็จะเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านหรือโครงการหลายโครงการของรัฐบาล หมู่บ้านที่มีความพร้อมจะมีโอกาสได้ประโยชน์มากขึ้นๆ และสามารถพัฒนาเป็นโครงการต่อเนื่อง อาจจะเป็นธนาคารหรือเป็นอะไรต่อไปได้ แต่หมู่บ้านที่มีความยากจนที่สุดอาจจะมีปัญหา ซึ่งเราจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเข้าไปดูแล เพราะฉะนั้นผมกราบเรียนว่า ถ้าเราสามารถทำระบบข้อมูลตรงในเชิงโครงสร้าง ในเชิงพื้นที่ หรือในมิติอื่นๆ เช่น มองเห็นชัดเจนว่าคนจนหรือครอบครัวที่ยากจนนั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น เป็นครอบครัวที่ใหญ่ อยู่ในชนบท ประกอบอาชีพทางการเกษตร เราก็จะสามารถที่จะดำเนินนโยบาย หรือวางนโยบายให้ตรงกับเป้าหมายให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผมกราบเรียนต่อไปเลยครับว่า การที่จะขจัดปัญหาความยากจน มันจึงจะต้องไปดูภาพรวมของนโยบายหลายๆส่วนประกอบกัน คงไม่ใช่เฉพาะลักษณะของการมองว่าจะมีเงินทุนไปให้คนที่เรามองว่าเป็นคนยากคนจนเท่านั้น และถ้าเราย้อนกลับไปดูด้วยว่า ที่ผ่านมาตัวเลขความยากจนที่มีขึ้น มีลง ปัจจัยอะไรบ้างเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัจจัยอะไรบ้างที่เราต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราก็จะมีความชัดเจนขึ้นครับว่า เราจะหาคำตอบในเรื่องของการที่จะเดินหน้าขจัดความยากจนได้อย่างไร
ผมได้ไปประเมินดูและขอหยิบขึ้นมาทั้งหมด 7 ปัจจัย ซึ่งจะกราบเรียนเพื่อนำไปสู่ภาพที่จะเป็นคำตอบเรื่องความยากจน ปัจจัยแรกที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือว่า ความยากจนที่ผ่านมาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จริงอยู่อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนั้นคงไม่สามารถเป็นคำตอบสำเร็จรูปได้ แต่ต้องยอมรับว่าสัมพันธ์กัน เห็นได้ชัดก็คือว่า 30, 40 ปีที่ความยากจนขยายตัว ความยากจนก็ลดลงโดยลำดับ พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นการขยายตัวก็ลด ตัวเลขของพี่น้องคนยากคนจนก็เพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด และ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็วิเคราะห์กันได้เหมือนกันว่า ความยากจนที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากมาตราการบางมาตรการ จากโครงการบางโครงการ แต่ในภาพรวมก็มาจากการที่เราสามารถทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ด้วยดีพอสมควร แต่สิ่งที่ผมอยากจะกราบเรียนเพิ่มเติมก็คือว่า เวลาเราพุ่งเป้าขยายตัวไปทางเศรษฐกิจนั้น เราก็ต้องเข้าใจเช่นเดียวกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นต้องดูในแง่ของคุณภาพ และลักษณะของการเติบโตด้วย
ท่านนายกก็มักจะเปรียบเทียบหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจโตแล้วก็ช่วยให้ทุกคนขึ้นมา เป็นน้ำฝนบ้าง น้ำที่ตกลงมาช่วยให้ทุกคนลอยตัวขึ้นหรือจะมีภาชนะมารองรับก็ตาม แต่ว่าวิธีการสร้างความเจริญเติบโตมันทำได้หลายวิธีและแต่ละวิธีนั้นมันก็จะส่งผลต่อเรื่องความยากจนและการกระจายรายได้ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบเป็นฝน ฝนที่ตกมามากมันก็มีหลายวิธี แต่ต้องเลือกเหมือนกันว่า จะให้ตกที่ไหน ให้ตกเมื่อไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากกราบเรียนว่า เพราะว่วา ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยที่รัฐบาลใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากก็คือ เรื่องการบริโภค ซึ่งมาจากการหยิบยื่นเงินไปให้ประชาชนนั้นสามารถใช้จ่ายได้
กระผมกราบเรียนว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการบริโภคนั้น หากท่านไปไล่ ไปจำแนกแจกแจงในช่วงที่ผ่านมาก็จะพบความจริงว่า ประโยชน์ที่ตกอยู่กับพี่น้องประชาชนที่ยากจนที่สุด อาจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายเพราะเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะขายสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น มีกำไรมากขึ้น มียอดขายมากขึ้น แต่ว่ารายได้ของบุคคลธรรมดานั้นก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนในแง่ของการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับเรื่องของรายจ่าย ซึ่งส่งผลมาในเรื่องของหนี้ที่สะสม ส่งผลมาถึงเรื่องของการออม
เพราฉะนั้นประเด็นแรกที่อยากจะกราบเรียนเสนอก็คือว่า จากนี้ไปในการคิดเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้แน่นอนก็คือว่า ขอให้คำนึงถึงลักษณะของการขยายการเจริญเติบโตด้วย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเองตั้งเป้าเอาไว้ว่า ตัวหนึ่งที่มากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีข้างหน้าก็คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถึง 1500000 ล้านบาท แต่เงินส่วนใหญ่ก็จะมากระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ อยู่ที่ปริมลฑล อยู่ที่สุวรรณภูมิ อาจจะอยูที่ท่ารือแหลมฉบังตามที่ได้เขียนไว้ในนโยบาย
ผมกราบเรียนย้ำอีกครั้งครับว่า ถ้าเราย้อนกลับไปดูตัวเลขความยากจนนั้นจนที่สุดอยู่ที่ 15 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลน่าปรับคิดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคือ คิดไปถึงการเชื่อมโยงในการสร้างโอกาส 15 จังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเรื่องใด อย่างไรบ้าง ไม่ใช่มีเพียงโครงการเฉพาะเอสเอ็มแอล และเอสพีวี หรือคาราวานไปเท่านั้น แต่ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทสในการสนับสนุนการเจริยเติบโตจะมีการสร้างโอกาสให้พื้นที่กลุ่มจังหวัดที่มีความต้องการ ที่มีความยากจนอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร
ประการที่ 2 ครับ การเติบโตทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจอย่างเรามีควาวมผันผวนตลอดเวลา ปัญหาความยากจนด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ซึ่งกระผมได้กราบเรียนแล้วก็คือว่า มันเกิดขึ้นจากความผันผวนตรงนี้ก็คือคนมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ตรงนี้เราจะช่วยป้องกันหรือช่วยขจัดความยากจนลักษณะนี้อย่างไร กระผมคิดว่าไม่มีคำตอบอะไร ไปกว่าแนวพระราชดำริพอเพียง นี่คือจุดหลักจุดสำคัญที่ผมคิดว่า รัฐบาลไม่ควรที่จะให้ความสำคัญน้อยไปกว่าเรื่องของการเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะนี่จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดว่า ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจเราก็ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย เรายังสามารทำให้คนของเรามีหลักประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่เป็นพื้นฐานที่ดี กระผมก็กราบเรียนครับว่า เวลาที่เศรษฐกิจชุมชนหรือแนวเศรษบกิจพอเพียงมีความเข้มแข็งในชุมชนใดครับ แม้ในชุมชนนั้นรายได้อาจจะไม่สูง แต่ยืนยันได้ว่าคุณภาพชีวิตและหลายสิ่งหลายอย่างดีกว่า และถ้าเป้าหมายของเราไม่ได้อยูที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่ความสุขผมคิดว่าน่าไปดูครับชุมชนตัวอย่างทั้งหลายว่า บางทีไม่ได้อยู่ที่ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย แต่สามารถสร้างความพึงพอใจในมาตรฐานการครองชีพ ความสุขและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันนี้ก็คือประเด็นที่ 2 ที่อยากจะกราบเรียน
ประเด็นที่ 3 ที่อยากจะย้ำเตือนรัฐบาลก็คือว่า อย่ามองปัญหาความยากจนว่า ไปแก้ด้วยนโยบายด้านความยากจนเป็นการเฉพาะ นโยบายทุกนโยบายของรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจส่งผลต่อความยากจนได้ทั้งสิ้น
กระผมกราบเรียนให้เห็นว่า สิ่งที่กระผมได้อภิปรายไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น การตัดสินใจในเรื่องของการลงนามทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี อันนี้รัฐบาลอาจจะมองในกรอบของการเพิ่มพูนดอกาสการส่งออก การได้ดุลการค้าเป็นเป้าหมาย แต่ทุกข้อตกลงครับ อาจจะทำให้ความยากจนรุนแรงขึ้นอย่างเช่นที่เกษตรกรภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนเผชิญอยู่จากผลของการไปทำข้อตกลงไว้กับประเทศจีนอย่างนี้เป็นต้น ที่พุดไม่ได้หมายความว่าข้อตกลงไม่มีข้อดี แต่ข้อเสีย ผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นนั้น กระทบต่อวิถีชีวิตของคนจริง และส่งผลต่อความยากจน อย่างที่กระผมได้กราบเรียนแล้วว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนที่รัฐบาลประเมินว่าเป็นคนจนมาก่อน แต่พอเจอกับผลกระทบของนโยบายอย่างนี้ก็มีผล
ข้อตกลงที่รัฐบาลไปทำเพิ่มกับญี่ปุ่นก็ดี กับสหรัฐอเมริกาก็ดี ก็มีผล ครับ ไม่เฉพาะเรื่องการค้าด้วยอย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องอะไร ก็ไปส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนยากจน อย่างเช่นกรณีผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความกังวลมากว่า เรื่องสิทธิบัตรยาจะมากระทบกับเขา อันนี้ก็เป้นเรื่องของความยากจนอีกมิติหนึ่ง
ฉะนั้นการดำเนินนโยบายในทุกเรื่องเป็นไปได้ไหมครับว่า เราควรมีการประเมินผลต่อเรื่องของความยากจนของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและการกระจายรายได้ดวย ท่านประธานคงนึกออกว่าระยะหลังเราจะทำโครงการอะไรขนาดใหญ่ เราต้องทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาก็มีการเรียกร้องว่า ต้องทำการประเมินผลกระทบทางสังคมด้วย กระผมก็กราบเรียนว่า จะเพิ่มเติมไปอีก 1 ข้อ หรือจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของผลกระทบต่อสังคมก็ตาม น่าจะได้ประเมินผลกระทบของแต่ละนโยบาย แต่ละมาตรการ ที่มีต่อเรื่องของความยากจน และการกระจายรายได้ด้วย
และเรื่องต่อไปที่อยากจะกราบเรียนก็คือว่านโยบายที่รัฐบาลดำเนืนมาที่มุ่งไปในทางแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นจะมีเพิ่มขึ้น มีมาตรการ มีโครงการที่ เพิ่มเติมมาตลอดเวลา แต่ว่าผมอยากเห็นการประเมินผลที่เป็นที่การประเมินอย่างเป็นกลางตามหลักวิชาการ เมื่อประมาณปีที่แล้วครับ ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็มีความพยายามจะทำสิ่งนี้ เช่นมีการไปศึกษาลงเป็นรายภาคเลยครับว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารประชาชนก่อนและหลังเข้าโครงการ รายได้เปลี่ยนแปลงอย่างไร รายจ่ายเปลี่ยนแปลงอย่างไร หนี้สินเปลี่ยนแปลงอย่างไรการลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างไร การออมเปลี่นยแปลงอย่างไร มีการประเมินว่าคนที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ก่อนเข้าโครงการหลังเข้าโครงการแล้วเป็นอย่างไรแต่ว่ากราบเรียนว่าไม่ทราบว่าด้วยเหตุใด ในที่สุดการประเมินตรงนี้นั้นก็หยุดไปตัวเลขที่เคยปรากฎต่อสาธารณะมา ซึ่งไม่ได้ปรากฏในทางบวกนัก ก็ถูกถึงออกไป ขณะนี้ก็ไม่ได้ปรากฎต่อสาธารณชนต่อไป
ผมกราบเรียนว่าผมไม่อยากให้เราทำงานโดยกังวลว่าถ้าผลของโครงการไม่ดีแล้วจะเป็นปัญหาทางการเมือง แต่ว่าอยากให้เราประเมินอย่างตรงไปตรงมา จึงจะสามารถที่จะมองเห็นความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรไปในแต่ละนโยบายในแต่โครงการและจะทำให้รัฐบาลสามรถที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรการต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพอันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องทำมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้คิดโครงการเยอะมาก แต่ว่าการติดตามเพื่อการปประเมินผลอย่างชัดเจนนั้น เราก็มองไม่เห็นที่จะทำให้สามารถตัดสินใจต่อไปได้อย่างแม่นยำว่าควรจะเดินต่อควรจะปรับปรุงหรือ ควรจะยกเลิก ก็ขอฝากไปทางรัฐบาลว่าตรงนี้จำเป็นจะต้องทำมากขึ้น
ประเด็นที่ 5 ก็คือเรื่องของระบบการเงินการคลังก็เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลทางเศษรฐกิจตรงนี้ครับเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ายังขาดการทำอย่างเป็นระบบในช่วงที่ผ่านมา โครงสร้างของภาษีก็ดี แนวทางของการจัดสรรงบประมาณก็ดี ยังไม่ได้เชื่อโยงต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนมากนัก ความพยายามในอดีตในการปรับปรุงระบบภาษีก็มีอยู่ แต่ว่าภาษีบางตัว เช่นภาษีทรัพย์สินกระผมก็ทราบว่าไม่ง่ายในการที่ผลักดัน แต่ตรงนี้ต้องคิดจริงจังมากขึ้นเพราะนับวันนั้นเครื่องมือที่เราใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ต้องใช้เงินงบประมาณก็มาจากภาษี แต่ถ้าเรามปล่อยให้ภาษีส่วนใหญ่นั้นมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคนรวยคนจนจ่ายเท่ากันอย่างนี้เราก็ไม่ได้ใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับงบประมาณ งบประมาณที่เราจัดสรรอยู่ในปัจจุบันทั้งในส่วนที่เป็นงบประมาณปกติ ทั้งในส่วนที่เป็นงบกลางที่ตั้งไว้มากมายมหาศาลก็ขาดการประเมิณอย่างเป็นระบบว่าสุดท้ายจัดสรรไปยังที่ที่มีความต้องการมากที่สุดแล้วหรือยัง
ที่จริงแล้วมีการศึกษาอยู่จากหลายสถาบัน จากนักวิชาการหลายคน ซึ่งยังบงบอกว่างบประมาณก็ยังทุ่มเทไปในพื้นที่ซึ่งค่อนข้างจะมีความเจริญอยู่แล้ว อันนี้ก็เป้นปัญหาที่ผมอยากจะเห็นมีการปรับควบคู่ไปกับเรื่องภาษีอากร เพื่อจะให้ระบบการเงินการคลังมุ่งกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และแก้ไขปัญหาความอยากจนได้ด้วย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ