ด้วยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีคำสั่งที่ 214 /2548 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2548
กรมการประกันภัยขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย มีปัญหาสภาพคล่อง รวมทั้งจัดสรรทรัพย์สินตามประเภทที่กฎหมายกำหนดไม่เพียงพอกับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัทและเงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และมีจำนวนค่าสินไหม ทดแทนค้างจ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการประกันภัยได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 7/2548 เรื่อง ให้บริษัทประกันวินาศภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2548 สั่งให้บริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งให้บริษัทส่งแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งผลการพิจารณาเห็นว่าแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไม่อาจแก้ไขปัญหาฐานะการเงิน และสภาพคล่องของบริษัทได้ และไม่อาจเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนขึ้นอีกในอนาคต ประกอบกับบริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หากให้บริษัทรับประกันวินาศภัยต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเพิ่มยิ่งขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน วินาศภัยของบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2548
2. สิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย กรณี
2.1 กรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเหลืออยู่ และไม่ประสงค์จะใช้สิทธิตามแบบข้อ 2 ให้ผู้เอาประกันภัยติดต่อ ผู้ชำระบัญชีของบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด เพื่อยื่นขอรับคืนเบี้ยประกันภัย โดยใช้หลักฐานสำเนากรมธรรม์ประกันภัย สำเนาบัตรประชาชน ใบเสร็จรับเงิน (ถ้ามี) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
2.2 กรมธรรม์ประกันภัยที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ให้ ผู้มีสิทธิเรียกร้องติดต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี โดยนำหลักฐานกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมสำเนา สำเนาบัตรประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หนังสือรับรองการ จดทะเบียนนิติบุคคล(กรณีเป็นนิติบุคคล) หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ยื่นต่อ ผู้ชำระบัญชีของบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด
การยื่นขอรับคืนเบี้ยประกันภัยหรือยื่นขอรับชำระหนี้ ให้ติดต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด ณ ที่ทำการชั่วคราวผู้ชำระบัญชี กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ. นนทบุรี 1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี กรณีต่างจังหวัด ยื่นต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยการใช้สิทธิตามข้อ 2 ผู้เอาประกันภัยและผู้มีสิทธิเรียกร้องจะได้รับเงินเมื่อการชำระบัญชีและการดำเนินการทางกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว
3. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย
เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทพาณิชย์การประกันภัย จำกัด กรมการประกันภัย โดยความร่วมมือของสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันภัย จึงได้กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะได้รับ ความคุ้มครองตามระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ ดังนี้
3.1 กรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ นอกจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี และชำระเบี้ยประกันภัย 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลา ประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม โดยไม่คิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองเกิน 1 ปี เช่น กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน
3.2 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
- กรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ
กรมธรรม์ประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี และชำระเบี้ยประกันภัย 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาประกันภัยที่ เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม โดยไม่คิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท ได้แก่ ประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 4 ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกทำประกันภัยตามที่บริษัทประกันภัยเสนอให้ความช่วยเหลือได้เป็น 2 แนวทาง คือ
(1) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี และชำระเบี้ยประกันภัย 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะขยายระยะเวลาความคุ้มครองเพิ่มเติมให้เท่ากับระยะเวลาประกันภัยที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม โดยไม่คิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม
(2) ผู้เอาประกันภัยสามารถขอทำประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง 1 ปี โดยบริษัทประกันภัยจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเท่ากับจำนวนเบี้ยประกันภัยตามอัตราคืนเบี้ยประกันภัยที่กำหนดในพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยฯ ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเดิม ทั้งนี้ ส่วนลดที่จะให้แก่ผู้เอาประกันภัยจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของเบี้ยประกันภัยเต็มปีของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม
การดำเนินการกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ มีหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้
- กรมธรรม์ประกันภัยประเภท 1 และ ประเภท 2 บริษัทประกันภัยสงวนสิทธิ ที่จะตรวจสภาพรถคันเอาประกันภัยก่อนการรับประกันภัย
- กรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่จะมีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่บริษัทประกันภัย ได้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ สภาพรถและได้รับชำระเบี้ยประกันภัยเสร็จ เรียบร้อยแล้ว
4. ในกรณีตามข้อ 3 ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองต่อไปให้ยื่นหลักฐานการขอทำประกันภัย เช่น กรมธรรม์ประกันภัยเดิมพร้อมสำเนา สำเนาบัตรประชาชน ใบเสร็จรับเงิน (ถ้ามี) และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล(กรณีเป็นนิติบุคคล) ไปติดต่อกับบริษัทประกันภัยหรือสาขาของบริษัทประกันภัยบริษัทใดบริษัทหนึ่งตามบัญชีแนบท้ายประกาศ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548
5. ผู้เอาประกันภัยซึ่งทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ตามข้อ 3 ยังคงมีสิทธิขอรับคืนเบี้ยประกันภัยได้ตามข้อ 2
6. บัญชีรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ช่วยรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท พาณิชย์การประกันภัย จำกัด
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
3. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด
6. บริษัท ธนชาติประกันภัย จำกัด
7. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
10.บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด
11.บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด
12.บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13.บริษัท อวีว่า ประกันภัย (ไทย) จำกัด
14.บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด
15.บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
16.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (2000) จำกัด
หมายเหตุ : บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด รับประกันภัยเฉพาะการประกันภัยรถจักรยานยนต์ภาคบังคับเท่านั้น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด จะรับประกันภัยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจตามเงื่อนไข (2) เท่านั้น
หากมีปัญหาเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของการโอนกรมธรรม์และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ ขอให้ติดต่อสอบถามและขอความช่วยเหลือได้ที่กรมการประกันภัย หมายเลข 1186 และสำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
ที่มา: http://www.doi.go.th