สินค้าไบโอพลาสติค โอกาสทางการค้าสำหรับประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2005 16:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ
ในงาน Aichi Expo ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ในจังหวัดไอจิ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มีนาคม — กันยายน 2548 เป็นงานเอ็กสโปที่นำเสนอพัฒนาการ ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของโลกที่สำคัญ งานแถลงข่าวของงานดังกล่าว ได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสินค้าดาวเด่นในงานในครั้งนี้ คือ สินค้าไบโอพลาสติค เป็นสินค้านวัตกรรมการคิดค้น ผลิตเม็ดพลาสติคจาก เมล็ดข้าวโพด โดย การสกัดให้เป็นแป้งข้าวโพด แล้วจึงนำไปแปรรูปเป็น เม็ดพลาสติค Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการนำไปแปรรูปเป็นสินค้าต่อไป โดยตลอดงานจะใช้ภาชนะใส่อาหารทำจาก PLA ทั้งที่ใช้แล้วทิ้งทันที และในส่วนนำมา reuse และเมื่อหมดอายุใช้งาน สามารถนำมา recycle ได้ใหม่ในภายหลัง
PLA มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถย่อยสลายในดินตามธรรมชาติได้ สามารถผลิตเป็นกล่องภาชนะพลาสติคแบบใส สำหรับ ใส่อาหารกล่อง เช่น สลัดผัก ข้าวปั้น เป็นต้น ที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ นอกจาก PLA จะสามารถผลิตได้จากข้าวโพดแล้ว ยังสามารถแปรรูปจาก อ้อย มันสำปะหลัง หัวบีท ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม พลาสติค PLA ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เรื่องการทนความร้อนได้ไม่สูงนัก ประมาณไม่เกิน 60? C ไม่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้ ราคาที่ยังสูงกว่าพลาสติคปกติ และ ไม่สามารถผลิตรูปทรงที่ต้องการความเที่ยงตรงมากได้ จึงสามารถผลิตได้เพียงสินค้ารูปทรงง่าย ๆ เช่น ภาชนะกล่องใส่อาหาร ถุง แปรงสีฟัน เป็นต้น ซึ่งในอนาคตหากสามารถเคลียร์ข้อจำกัดนี้ได้ โอกาสในการใช้ ในการผลิตส่วนประกอบอะไหล่รถยนต์ ซีดี และอะไหล่อุปกรณ์ AV เป็นต้น นับว่ามีอนาคตที่ดีอีกมากทีเดียว
บริษัท Mitsui Chemicals, Inc. เป็นบริษัทผู้คิดค้นสินค้าพลาสติคดังกล่าว โดยใช้ชื่อสินค้าของตนเองว่า LACEA โดยร่วมกับบริษัท Cargill Dow Co.,Ltd. เปิดโรงงานผลิตพลาสติค PLA ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2004
นอกจากนี้ บริษัท Nihon Denki Co.,Ltd. (NEC) ก็ได้ประกาศความสำเร็จ ผลการวิจัยของบริษัท ในเดือนมกราคม 2003 ในการนำ เยื่อไม้สำหรับผลิตกระดาษ (Kanaf or Deccan Hemp) มาผสมกับ LPA ผลิตไบโอพลาสติคที่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนจากอุณหภูมิประมาณ 60 องศา เป็น 120 องศา และมีความแข็งมากขึ้น 1.8 เท่า สามารถใช้ผลิตอะไหล่อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ได้ ทั้งยังสามารถรักษาคุณสมบัติเดิมของ LPA ไว้ได้ สำหรับส่วนผสมเยื่อไม้ Kenaf มาจากประเทศออสเตรเลีย โดยใช้ส่วนผสมสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 บริษัทจะได้นำวัตถุดิบใหม่นี้ มาผลิต อะไหล่อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ภายในปี 2005 นี้
บริษัท Victor Japan Co.,Ltd. ได้ประกาศว่า สามารถผลิตแผ่น DVD จาก LPA ทำมาจากข้าวโพด เช่นกัน เมื่อเดือนธันวาคม 2004 และในแถลงข่าวของบริษัท ประกาศว่า สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าว ประยุกต์ในการผลิตแผ่น CD, BD ( Blue Ray Disk ) ได้อีกด้วย
จากผลการวิจัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่า วัตถุดิบในการนำมาผลิตวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติค เพื่อนำไปผลิต Polylactic Acid ล้วนเป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติที่ประเทศไทย สามารถปลูกได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดี สำหรับประเทศไทย ในการเร่งทำการวิจัยศึกษาเรื่อง การผลิตไบโอพลาสติคกันอย่างจริงจัง หรือหาผู้ร่วมทุนจากญี่ปุ่น ในการทำการวิจัย และทำการผลิต เพราะสินค้าดังกล่าว เป็นเส้นทางแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ นำความปลอดภัยมาสู่ชาวโลก และสามารถนำความมั่งคั่งมาสู่ชาติเราต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ