สรุปการประชุมเตรียมการ FTA ไทยกับสหรัฐฯ ในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 10, 2005 16:01 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          กรมการค้าต่างประเทศ กำหนดจัดประชุมเตรียมการ FTA ไทยกับสหรัฐฯ ในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2548 เวลา 09.45 น. ณ ห้องประชุม 1601 ชั้น 16 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  โดยมีดร.ปิยะนุช  มาลากุล ณ อยุธยา และคุณกมล  ตันติวณิชย์ เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม  สรุปประเด็นหารือที่สำคัญได้ ดังนี้ 
1. การเจรจาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ FTA ไทย-สหรัฐฯ ฝ่ายไทยได้กำหนดหารือ FTA สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับสหรัฐฯครั้งต่อไป ประมาณวันที่ 24-25 มกราคม 2548 ที่กรุงเทพฯ ร่างข้อเสนอของสหรัฐฯภายใต้ FTA ไทย-สหรัฐฯ ส่วนใหญ่กำหนดรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อตกลง FTA ของสหรัฐฯกับ 5 ประเทศ คือ สิงค์โปร์ ชิลี ออสเตรเลีย บาห์เรน และโมร็อคโค ได้แก่ กรอบการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า การหารือ De Minimis (การยกเว้นเส้นใยและด้ายน้ำหนักไม่เกิน 7 %), Treatment of Sets (การยกเว้นมูลค่าของสินค้า Sets ไม่เกิน 10 %), Short supply, และกฎแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าแต่ละชนิด (Specific Rule of Origin) ซึ่งใช้กฎ Yarn Forward สำหรับผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
2. ในภาพรวม draft text ของสหรัฐฯ-ไทย คล้ายกับ FTA ของสหรัฐฯกับชิลีและออสเตรเลีย โดยประเด็นที่มีความแตกต่าง ได้แก่
2.1 สหรัฐฯ กำหนดให้ไทยจัดทำมาตรการเพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งการตรวจสอบโรงงาน
2.2 กำหนดให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถเข้ามาตรวจสอบโรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ส่งออก โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการไว้
2.3 กรณีที่ผู้ประกอบการปฏิเสธการเข้าตรวจของเจ้าหน้าที่ จะถือว่าไม่สามารถทำการพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้าได้ และประเทศผู้นำเข้าสามารถดำเนินการที่เหมาะสมได้
2.4 กำหนดให้ผู้ประกอบการ มีการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นเวลา 5 ปี หากประเทศผู้ส่งออกไม่สามารถพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้าได้ภายใน 12 เดือน ประเทศผู้นำเข้าอาจดำเนินการยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษี จนกว่าประเทศผู้นำเข้าจะได้รับข้อมูลยืนยันการตรวจสอบและพิสูจน์ที่เพียงพอ
3. สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสูงกว่าไทย ส่วนใหญ่สหรัฐฯส่งออกผ้าผืนและเส้นใย ส่วนไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐ
4. สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย กำหนดคำจำกัดความเรื่อง short supply list หมายถึงรายการสินค้าที่ทั้งสองประเทศผลิตไม่ได้ และขอให้รายการสินค้าที่กำหนดกฎเป็น fiber forward เปลี่ยนเป็น yarn forward พร้อมทั้งขอให้มี cumulation กับประเทศคู้ค้าที่ทำ FTA กับสหรัฐฯได้
5. สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เสนอใช้กฎ Substantial Transformation ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป หรือใช้กฎ short supply list ตามข้อตกลง FTA ระหว่างสหรัฐฯและ CAFTA และให้มีการเพิ่มรายการสินค้าที่สามารถใช้กฎ cut & sew
6. ไทยสามารถรับข้อเสนอเรื่อง Customs Cooperation ของสหรัฐฯ ได้ โดยการกำหนดความร่วมมือในการดำเนินการใด ๆ ในข้อตกลง ขอให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน
7. ไทยควรใช้มาตรการ Bilateral Emergency Action เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่มีการต่อเวลาเพิ่ม
8. เสนอให้สินค้าผ้าทอมือและ hand-crochet อยู่ในกลุ่มการลดภาษีเป็นศูนย์ทันที
9. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ Treatment of Sets ของไทย ควรกำหนด De Minimis เป็น 15 %
10. การเข้าขอตรวจสอบโรงงาน สหรัฐฯควรแจ้งให้ไทยทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 14 วัน
ที่มา: หอการค้าไทย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ