ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ
“แนวทางการป้องกันและแก้ไขโรคไข้หวัดนกในอนาคต”
1. ความสำคัญของปัญหา
การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แถลงการณ์ถึงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไข้หวัดนก โดยตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรกที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2547 เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ลุกลามเป็นวงกว้างครอบคลุมจังหวัดต่างๆ มากถึง 60 จังหวัด จำนวนเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 407,766 ราย งบประมาณที่รัฐให้ความช่วยเหลือประมาณ 5,324.3 ล้านบาท วงเงินที่ขอรับการชดเชยกว่า 1,900 ล้านบาท จำนวนสัตว์ปีกล้มตายประมาณ 60 กว่าล้านตัว ในขณะเดียวกันข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก (เชื้อสายพันธ์ H5N1) ทั้งสิ้น 8 คน พบผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวม 12 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากรัฐยังไม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภาวะการบริโภค ภาคอุสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการพิทักษ์ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในชาติ
เกษตรกรจึงหนีไม่พ้นการเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ปีกรายใหญ่และรายย่อยต่างต้องประสบกับภาวะการขาดทุนจากผลผลิตที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกและลดการบริโภคลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความพยายามในการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของภาครัฐจะเข้าช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกกลับซ้ำเติมความรุนแรงมากขึ้น โดยการระบาดในรอบสอง เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2547 หรือเพียง 6 เดือน นับจากการระบาดในรอบแรก ความรุนแรงครั้งนี้มิได้ลดลงน้อยไปจากเดิม กล่าวคือ แม้จะสามารถจำกัดวงไว้ในพื้นที่ 13 จังหวัด แต่นับเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกให้ยากแก่การฟื้นตัวได้ในเร็ววัน
ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจึงนับเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการหลายมาตรการควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมและกำจัดโรคไม่ว่าจะเป็นมาตรการทำลายสัตว์ติดเชื้อ มาตรการเฝ้าระวังโรคและสอบสวนทางระบาดวิทยา มาตรการควบคุมโรค มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ และมาตรการการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคดังกล่าวให้กับผู้บริโภค ตลอดจนมาตรการให้ความช่วยเหลือและชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกร การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมติดตาม เฝ้าระวัง และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของภาครัฐจึงเป็นแนวทางที่จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ ความเต็มใจในการให้ความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่อง
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาฯ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง ชื่อว่า “คณะทำงานศึกษาแนวทางการป้องกันการระบาดของไข้หวัดนกในอนาคต” ตามคำสั่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ 27/2547 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2547 เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขการระบาดของไข้หวัดนกในระยาวต่อไป
3. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
3.1 เพื่อศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในอนาคต
3.2 เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ได้รับในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็น การศึกษาดูงานประกอบการพิจารณาหาแนวทางการป้องกันและแก้ไข อีกทั้งหาทางเลือกให้แก่เกษตรกร
3.3 เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในอนาคตเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
4. วิธีการศึกษา
4.1 จัดสัมมนาเวทีสาธารณะ เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ เกษตรกร องค์กรภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.2 ศึกษาดูงานในพื้นที่ที่เกิดการระบาดและในรัศมีโดยรอบทั้งในการระบาดรอบแรกและรอบสอง
4.3 ศึกษามาตรการและประสิทธิภาพของการดำเนินตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
4.4 ประมวลผลและจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. สภาพปัญหาจากการศึกษา
เนื่องจากโรคไข้หวัดนกเป็นโรคที่อุบัติใหม่สำหรับประเทศไทย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อโรคไข้หวัดนกในตระกูล Avian Influenza สายพันธ์ H5N1 ของภาครัฐและประชาชนจึงขาดความชัดเจน เป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาวะการบริโภค ความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
จากการศึกษา พบว่า
5.1 รัฐบาลดำเนินการเปิดเผยข้อมูลต่อเกษตรกรไม่ทันต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงทำให้ประชาชนขาดการเตรียมความพร้อมในการเตรียมการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างจริงจัง
5.2 สภาพการเลี้ยงของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบไล่ทุ่งหรือแบบหลังบ้าน (Backyard) ซึ่งนิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเนื้อและไข่ภายในครัวเรือน เมื่อมีจำนวนมากจึงจะนำออกจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ทำให้ขาดคุณภาพในการดูแลให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัยสัตว์
5.3 เกษตรกรบางกลุ่ม เช่น ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ชน ไก่สวยงาม เป็นต้น ขาดความเข้าใจในสถานการณ์ความรุนแรงของโรค เป็นเหตุให้เพิกเฉยกับมาตรการของภาครัฐ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการเลี้ยงให้เป็นไปตามหลักวิชาการ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก จึงทำให้เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง
5.4 ภาครัฐขาดมาตรการการควบคุมป้องกันการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกที่มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมาตรการการเฝ้าระวังที่ทำให้ประชาชนหรือเกษตรกรรายย่อยเข้าใจว่าเป็นความยุ่งยากมากขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เป็นต้น
5.5 บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกัน และการเตรียมการรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนก
5.6 จำนวนอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์ของโรคให้ทันท่วงที
5.7 ห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรคมีจำนวนไม่เพียงพอกับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค (มีเพียง 8 แห่งทั่วประเทศ)
5.8 การดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขโรคไข้หวัดนกของทางจังหวัดขาดการจัดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานภายในจังหวัด หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการระบาดของโรคอย่างเป็นเอกภาพ
5.9 การประสานงานของหน่วยงานปศุสัตว์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.10 ผลจากการปฏิรูประบบราชการที่ยุบตำแหน่งปศุสัตว์อำเภอไปรวมไว้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทำให้เกิดความล่าช้าในการประสานกับเกษตรกร หรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกในระดับพื้นที่
5.11 ปศุสัตว์อินทรีย์ หรือปศุสัตว์ชีวภาพยังไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง
5.12 การจัดทำทะเบียนข้อมูลสัตว์ปีกไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่อาจควบคุมโรคได้ และยังส่งผลกระทบต่อยอดเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่สูงกว่าประมาณการยอดความเสียหายเกินความเป็นจริง
5.13 ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการบริโภคสัตว์ปีก ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
6. ข้อเสนอแนะและแนวทางป้องกันและแก้ไข
จากการศึกษาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก สภาที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า การดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงกลุ่มในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยละเลยภาคการเกษตรส่วนใหญ่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ตามวิถีชุมชนพื้นบ้าน สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้พิจารณาให้ความสำคัญกับแนวทางวิถีชุมชนพื้นบ้าน อันเป็นพื้นฐานการดำรงชีพของเกษตรกร ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเห็นว่า รัฐบาลควรมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ตามแบบวิถีชุมชนพื้นบ้านให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐานทัดเทียมกับการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม เพื่อเป็นทางเลือกในอาชีพและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยไม่ละทิ้งวิถีการดำเนินชีวิตเดิมของชุมชน
สภาที่ปรึกษาฯ ขอเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในอนาคต ดังนี้
6.1 ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกตามระบบปศุสัตว์อินทรีย์แบบวิถีชุมชน/วิถีชาวบ้าน
ปศุสัตว์อินทรีย์ (Organic livestock) ตามบทนิยามในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หมายถึง ระบบการจัดการการผลิตปศุสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างดิน พืช และสัตว์ที่เหมาะสม เป็นไปตามความต้องการทางสรีรวิทยาและพฤติกรรมสัตว์ ที่ทำให้เกิดความเครียดต่อสัตว์น้อยที่สุด ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดี เน้นการป้องกันโรคโดยอาศัยการจัดการฟาร์มที่ดี หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารเคมี
การเลี้ยงสัตว์ปีกพื้นบ้านเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมชนบทมานาน จะเห็นได้จากเกษตรกรเกือบทุกครัวเรือนจะมีการเลี้ยงสัตว์ปีกพื้นบ้านไว้เป็นอาหารและขายเป็นรายได้ ทั้งนี้ เพราะสัตว์ปีกพื้นบ้านสามารถเลี้ยงตนเองได้ตามธรรมชาติ เช่น ไก่จะมีการฟักไข่เอง เลี้ยงลูกและหากินเองได้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงให้ได้รับความน่าเชื่อถือ ควรดำเนินแนวทางดังต่อไปนี้
6.1.1 ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ที่มีการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์
6.1.2 สนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนให้มีการผลิตระบบปศุสัตว์อินทรีย์ เช่น ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนตามชนิดของสัตว์
6.1.3 ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้อาหารสัตว์ที่ทำจากวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เช่น ต้องไม่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)
6.1.4 วางมาตรการการจัดการด้านสุขภาพสัตว์อย่างเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับลักษณะตามธรรมชาติของสัตว์ เช่น จัดการด้านสุขภาพของสัตว์ที่มีความเหมาะสมกับชนิดของสัตว์ เผยแพร่ความรู้การใช้สมุนไพรหรือยาแผนโบราณหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันและรักษาสัตว์ป่วย เป็นต้น
6.1.5 ควรมีการจัดการด้านฟาร์มหรือโรงเรือนที่ถูกสุขลักษณะ เช่น ต้องมีพื้นที่ภายนอกโรงเรือนสำหรับการออกกำลังกาย หรือเป็นไปตามระบบการจัดการฟาร์มตามประเพณีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม เป็นต้น
6.1.6 มีการจัดการและบำบัดของเสียหรือมูลสัตว์ที่เหมาะสมและเกื้อกูลกัน เช่น การใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
6.1.7 มีการบันทึกข้อมูลรายละเอียดของสัตว์ ฐานข้อมูลทะเบียนสัตว์ในแต่ละระดับพื้นที่ (หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด) อย่างเป็นปัจจุบัน
6.2 ระบบการควบคุมและป้องกัน
6.2.1 จัดระบบการเข้าออกที่ปลอดภัยจากการความเสี่ยงของการเป็นพาหะนำโรค ทั้งคนและสัตว์
6.2.2 ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงสายพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ เพื่อลดความเครียดของสัตว์
6.2.3 ส่งเสริมการทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ปีกแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อการเกื้อกูลกันของทั้งดิน น้ำ อากาศ
6.2.4 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคแทนวัคซีน เช่น หางไหล ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
6.3 ด้านการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบของทางราชการ
6.3.1 ควรมีนโยบายส่งเสริมให้มีการวางมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ และให้การรับรองมาตรฐานการผลิตแบบปศุสัตว์อินทรีย์
6.3.2 ควรมีนโยบายส่งเสริมการทำวิจัยแบบชุมชนมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) เพื่อให้ปศุสัตว์อินทรีย์มีมาตรฐานและแพร่หลาย โดยอาจดำเนินการในลักษณะนำร่องในบางพื้นที่ ก่อนพิจารณาขยายผลให้ครอบคลุมในแต่ละภาค
6.3.3 ควรมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อินทรีย์เป็นสินค้าส่งออกในระดับโลก
6.3.4 ควรวางข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการปฏิบัติ การผลิตแบบปศุสัตว์อินทรีย์ โดยผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกระดับ
6.4 ด้านการบริหารจัดการ การงบประมาณและบุคลากร
6.4.1 ควรจัดให้มีอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้านๆ ละหนึ่งคน โดยมีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม
6.4.2 ควรมีนโยบายจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและปฏิบัติการปศุสัตว์อินทรีย์ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล โดยให้มีการบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการแบบไตรภาคี เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างทั่วถึง
6.4.3 ควรมีแผนพัฒนาบุคลากรระดับปฏิบัติการปศุสัตว์อินทรีย์ของกรมปศุสัตว์ให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดการทำปศุสัตว์อินทรีย์ได้
6.4.4 ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรระดับปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือ การให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ควบคู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพของงบดำเนินการในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมเพียงพอในทุกพื้นที่
6.4.5 ควรมีแผนระยะยาวในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตรวจผลและวินิจฉัยในระดับจังหวัดทุกจังหวัด
6.5 การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์
6.5.1 ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกทั้งในระดับภาคพื้นทวีป และความรุนแรงระดับพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา เป็นปัจจุบัน และทันท่วงที
6.5.2 ควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก เพื่อการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลข่าวสารเชิงรุกแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นจุดบูรณาการการทำงานของทุกขั้นตอนในระดับพื้นที่ โดยร่วมกับคนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9