รายงานดัชนีราคาสินค้าส่งออก ประจำเดือน ก.พ.48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2005 11:23 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาสินค้าส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2548 
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2548 โดยสรุป
การประมวลผลดัชนีราคาส่งออกในปี 2548 ใช้มูลค่าส่งออกปี 2547 จากกรมศุลกากรเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก สินค้าที่ใช้คำนวณจำนวน 793 รายการ ครอบคลุม 4 หมวดใหญ่ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ตามโครงสร้างเป้าหมายการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2548 (รูปเงินเหรียญสหรัฐฯ)
ปี 2543 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เท่ากับ 110.1
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เทียบกับ
2.1 เดือนมกราคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.9
2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2547 สูงขึ้นร้อยละ 7.0
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 6.2
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เทียบกับเดือนมกราคม 2548
ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด
3.1 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 3.9 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ข้าว สถานการณ์ข้าวโลกผลผลิตลดลง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ นโยบายส่งออกข้าวคุณภาพดี
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้นและมันอัดเม็ด) ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
- ยางพารา เป็นฤดูยางผลัดใบ ประกอบกับยางสังเคราะห์ราคาสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการจึงใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น
- กาแฟดิบ ผลผลิตน้อยจากภาวะแห้งแล้ง
3.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.1 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล จากภาวะภัยแล้งทำให้บางประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกต้องหันมานำเข้า ประกอบกับผลผลิตของไทยก็ลดลง
- ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป บรรจุภัณฑ์ปรับราคาสูงขึ้น
3.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.2 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- อัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ เครื่องประดับแท้ และอัญมณีสังเคราะห์ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ และผลกระทบจากราคาน้ำมัน
- ถังแก๊ส และท่อเหล็ก ปรับตามราคาถ่านหินและสินแร่เหล็กในตลาดโลก
- รองเท้าและชิ้นส่วน ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการออกแบบของสินค้าแฟชั่น
- เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์โลหะและไม้ ผลกระทบจากต้นทุนเหล็ก พลาสติก สีและไม้
สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง
- เครื่องอิเลคทรอนิกส์ (แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคำนวณและวงจรพิมพ์) ภาวะการแข่งขันกับจีนและไต้หวัน
- สิ่งทอ (ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดเท้าและผ้าเช็ดถ้วยชาม) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
- อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ (ที่ปัดน้ำฝน ที่วัดไมล์ ลูกหมากปีกนกและโครงด้านข้าง) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
3.4 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 11.4 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันดิบ ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5802 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ