อนาคตสินค้าไทย ในโลกการค้ายุคใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 7, 2005 17:08 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์          
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้เปิดเผยผลการศึกษาในเรื่อง อนาคตสินค้าส่งออกของไทยภายใต้กรอบ WTO ว่า อุตสาหกรรมไทยที่มีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากมี 7 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ กุ้ง และมันสำปะหลัง ส่วนอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับปานกลางมี 4 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์สำหรับแผงวงจรไฟฟ้า
หลังจากที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)แล้ว พบว่ารูปแบบการค้าของโลกได้เปลี่ยนไป สินค้าเกษตรของไทย เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง มีโอกาสตลาดดีขึ้น สามารถส่งไปขายในตลาดที่มีข้อจำกัดได้ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสหภาพยุโรป สำหรับในปี 2548 สินค้าสิ่งทอจะเปลี่ยนระบบคุมโควตามาเป็นระบบเสรี จะทำให้ผู้ส่งออกของไทยจะต้องพบกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า หากผู้ส่งออกไทยปรับตัวไม่ทันจะส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกของอุตสาหกรรมนี้
สำหรับมาตรการกีดกันการค้า จะพบว่าประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่หันมาใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ชอบธรรมโดยความตกลงขององค์การการค้าโลก ซึ่งอนุญาตให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุนภายใน (CVD) เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในจากสินค้านำเข้าที่มีพฤติกรรมทุ่มตลาดได้
การเปิดเสรีการค้าตามพันธะผูกพันขององค์การการค้าโลก จะส่งผลดีต่อการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง กุ้ง อาหารทะเลกระป๋อง ส่วนผู้ส่งออกบางประเภทจะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกโดยไม่ต้องขอการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ
ประเด็นวิเคราะห์
ผลของการเปิดการค้าเสรีทำให้โครงสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรจะหาจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรคของแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาให้แข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ