รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคภาคใต้ ประจำเดือน มี.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2005 11:45 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคใต้เดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนของปี 2548
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของภาคใต้เดือนมีนาคม 2548 และระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการของภาคใต้จำนวน 337 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะการขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคของภาคใต้เดือนมีนาคม 2548 ในปี 2548 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2548เท่ากับ 108.2 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เท่ากับ 107.3
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ เดือนมีนาคม 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.8
2.2 เดือนมีนาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 4.3
2.3 เดือนมกราคม - มีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 3.9
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้เดือนมีนาคม 2548 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 โดยมีการเคลื่อนไหว ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกร สภาพอากาศร้อนทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง
- ไก่สด ความต้องการบริโภคกระเตื้องขึ้นจากการรณรงค์สร้างความมั่นใจในการ
บริโภคของรัฐ ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาจะละเม็ดดำ ปลากะพง ปลาแดง
ปลาทู กุ้งขาว และหอยแมลงภู่ เป็นผลจากกรมประมงปิดอ่าวไทยห้ามจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่ ประกอบกับน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นการทำประมงลดลงทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่เข้าสู่ตลาดลดลง
- ผักสด ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว คะน้า ผักชี มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเทศ
ฟักเขียว ฟักทอง มะนาว พริกสด ต้นหอม ถั่วลันเตา หัวผักกาดขาว ขิง และตำลึง เป็นต้น
- ผลไม้สด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า สับปะรด และแตงโม เป็นช่วงนอกฤดูกาลปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมีน้อย
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง - ไข่ไก่ การเลี้ยงเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคช่วงปิดภาคการศึกษาลดลง
- น้ำมันพืช ได้แก่ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง ภาวะการแข่งขันสูงประกอบกับวัตถุดิบมีราคาอยู่ในระดับต่ำ
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.0
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน ปรับตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และน้ำมันดีเซล จากการที่รัฐบาลประกาศปรับเพดานราคาสูงขึ้นลิตรละ 3 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2548
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน มีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ยังไม่เกินราคาแนะนำของกรมการค้าภายใน
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ ระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548
ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคใต้ ระยะ 3 เดือนแรกของปี 2548 เท่ากับ 107.5 เทียบกับ
ดัชนีราคาเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 103.5 สูงขึ้นร้อยละ 3.9
4.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.8 จากการสูงขึ้นของราคา เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด และอาหารสำเร็จรูป
4.2 สินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ถ่านไม้ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0-2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ