นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอแนวทางในการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาหลังจากที่พระราชกำหนด ได้ผ่านการพิจารณาออกมาเป็นพระราชบัญญัติแล้ว ปรากฎว่านายกฯได้ปฏิเสธแนวทางนี้โดยอ้างว่ากฎหมายพึงบังคับใช้ และให้รอดูไปก่อน ซึ่งตนคิดว่าข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นข้อเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้บังคับให้รัฐบาลต้องดำเนินการทันทีทันใด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าหลังจากพระราชกำหนดผ่านสภาฯออกมาเป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอตั้งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฏหมายฉบับนี้เอง ซึ่งพรรคเห็นว่าก่อนที่จะนำร่างพระราชบัญญัติเข้าสภาเพื่อเสนอแก้ไข อาจจะมีความรอบคอบไม่เพียงพอ พรรคจึงเสนอทางออกที่น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลและส่วนรวมว่าให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นของบุคคลทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันและเป็นแนวทางให้กฎหมายฉบับนี้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนของสังคม
‘แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นายกฯ ได้ปฏิเสธแนวทางที่พรรคเสนอไปทั้งๆที่นายกฯเองเป็นผู้เรียกร้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ตลอดทั้งพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดีพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าหากนายกฯลองปรึกษาหารือกับบุคคลที่ทำงานด้านนี้ในรัฐบาลอย่างรอบคอบอีกครั้งหรือปรึกษาหารือคณะกรรมการสมานฉันท์ พรรคเชื่อว่านายกฯจะหูตาสว่างขึ้น และจะมองเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์เป็นข้อเสนอเพื่อประเทศชาติจริงๆ ’นายองอาจกล่าว
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 ส.ค. 2548--จบ--
‘แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นายกฯ ได้ปฏิเสธแนวทางที่พรรคเสนอไปทั้งๆที่นายกฯเองเป็นผู้เรียกร้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ตลอดทั้งพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดีพรรคประชาธิปัตย์คิดว่าหากนายกฯลองปรึกษาหารือกับบุคคลที่ทำงานด้านนี้ในรัฐบาลอย่างรอบคอบอีกครั้งหรือปรึกษาหารือคณะกรรมการสมานฉันท์ พรรคเชื่อว่านายกฯจะหูตาสว่างขึ้น และจะมองเห็นว่าต้องมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์เป็นข้อเสนอเพื่อประเทศชาติจริงๆ ’นายองอาจกล่าว
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 ส.ค. 2548--จบ--