นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ในรอบปี 2548 นี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยได้เข้ามามีส่วนในการส่งเสริม พัฒนา และเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจอื่นๆ รวมไปถึงการเกื้อกูลสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งนี้การประกันภัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินต่างๆสามารถให้บริการทางการเงินให้แก่ประชาชนทุกระดับเพิ่มขึ้น โดยการออกกรมธรรม์ประกันภัยรองรับความเสี่ยงภัยจากการปล่อยสินเชื่อ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่เรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ” ซึ่งบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาขึ้น และขณะนี้ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากกรมการประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอให้บริษัทประกันวินาศภัยต่างๆขอรับความเห็นชอบเข้ามาเท่านั้น
การประกันภัยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อ เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้กู้เงิน โดยผู้เอาประกันภัยที่ได้มีการกู้เงินจากองค์กรหรือสถาบันที่ให้กู้เงินได้ตามกฎหมาย มีการทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อไว้ และต่อมาต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะโคม่า ทางเดินหายใจล้มเหลว ระบบสมองตาย หรือประสาทล้มเหลว บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินค่าทดแทนตามจำนวนเงินภาระหนี้สินค้างชำระที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่จริงตามสัญญาเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงินผู้ให้กู้ในฐานะผู้รับประโยชน์ และหากหนี้สินที่ค้างอยู่กับสถาบันการเงินมีจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ เงินส่วนที่เหลือจากการจ่ายให้สถาบันการเงินแล้วจะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทโดยธรรม
นางสาวพจนีย์ กล่าวต่อไปว่า กรมธรรม์ประกันภัยสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อนี้ เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ช่วยให้ประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ซื้อสินค้าหรือบริการด้วยระบบสินเชื่อ เช่น การเช่าซื้อรถยนต์ การเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ หรือแม้แต่การใช้เงินกู้ส่วนบุคคล (Personal Loan) ให้สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยนี้ให้ความมั่นใจต่อสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ว่า หากผู้กู้สูญเสียความสามารถในการผ่อนชำระเงินอันเป็นผลมาจากสภาพร่างกายของผู้กู้ สถาบันการเงินเหล่านั้นก็ยังได้รับเงินสินเชื่อคืนอย่างแน่นอน สำหรับรายละเอียดของการประกันภัยดังกล่าวสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร 0 2547 4976 หรือสายด่วนกรมการประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th