เปิดทางผู้ประกอบการลุยเวทีโลกคลังเตรียมรื้อโครงสร้างภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2005 14:51 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ตระหนักถึงปัญหาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบและ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อแก้ไข โดยนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง จะได้มีการหารือร่วมกันในระดับกรม คือ สศค.จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้การปรับโครงสร้างภาษีช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดโลก
ทั้งนี้ การดำเนินการปรับปรุงอัตราภาษีขาเข้าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นรายอุตสาหกรรมและรายผลิตภัณฑ์ เพราะจะมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและศักยภาพของอุตสาหกรรมนั้นๆ และที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากรมาแล้ว 2 รอบ รอบแรกเมื่อปี 2533 และรอบที่ 2 เมื่อปี 2542 โดยเริ่มจากปรับลดอัตราภาษีในรายการสินค้า ที่ไม่มีผลิตภายในประเทศลงเหลือ 1% และในปี 2546 ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากร ทั้งระบบคือ เคมีภัณฑ์ เส้นใย ผ้า ทองแดง สังกะสี ปิโตรเคมี เหล็ก และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็ก เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เข้าสู่อัตราภาษีเป้าหมาย คือ 1% วัตถุดิบ 5% สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และ 10% สินค้าสำเร็จรูป ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราภาษีเข้าสู่เป้าหมายที่กำหนด 3 อัตราแล้ว จำนวน 3,730 ประเภทย่อย หรือประมาณ 68% และในส่วนของปิโตรเคมีและเหล็กจะทยอยเข้าสู่อัตราเป้าหมายในปี 2550 ซึ่งรวมทั้งหมดแล้ว 3,851 ประเภท หรือ 70%
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีขาเข้ามีหลายรอบคือ กรอบทั่วไปที่ประเทศไทย ปรับลดให้กับทุกประเทศ กรอบทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งแม้ว่าการปรับลดภายใต้เขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอต่างๆ จะมีผลดีต่อการขยายตลาดทางการค้า แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ดังเช่นกรณีของเอฟทีเอ ซึ่งมีการปรับลดอัตรา ภาษีเหลือ 0-5% เช่น หลอดภาพ มีผลให้สินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศอาเซียน
ที่มีอัตราภาษี 0-5% ขณะที่ปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าจากนอกอาเซียนมีอัตรา 0-30% ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่สามารถแข่งขันได้ และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ