มังกรเขย่าโลกวัดรอยเท้ามะกันกรุยทางสู่ผู้นำเอเซีย-แปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2005 15:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปสถานการณ์:
หลังจากที่จีนได้ปรับค่าเงินหยวนไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบด้านการเงิน การคลังและความสมดุลของโลกให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากจีนเป็นชาติที่คาดกันว่ามีศักยภาพสูงในการนำภูมิภาคก้าวไปสู่ความรุ่งเรือง และการพัฒนาของจีนได้สนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าวมาเป็นลำดับ โดยที่การปรับค่าเงินหยวนเป็นเพียงเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าจีนตัดสินใจก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้นำที่สำคัญบนเวทีโลกอย่างเต็มตัวหลังจากได้มีการเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจธุรกิจ ด้านการเมืองที่มีนัยของการท้าทายสหรัฐฯ เป็นต้น
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าจีนได้กลายเป็นนักลงทุนระดับโลก โดยมีเม็ดเงินกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปใน 160 ประเทศทั่วโลก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีนพบว่าการลงทุนในต่างประเทศของจีนนั้นในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 60 อยู่ที่เอเซีย รองมาคือ แอฟริกา และลาตินอเมริกา การกว้านซื้อกิจการและทรัพย์สินทั่วโลกของจีนที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานธรรมชาติ กระแสซื้อกิจการของจีนในตลาดเป้าหมายใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา ที่จีนมองว่าการกว้านซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศไม่ได้ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จแต่ต้องการเรียนรู้และเล่นบทบาทการแข่งขันในระดับโลกที่ไม่ใช่เฉพาะในจีนเท่านั้น
ในขณะที่จีนได้ดำเนินนโยบายเร่งหาแหล่งพลังงานนอกประเทศเพิ่มเติม หลายฝ่ายได้จับตามองว่าไม่เพียงเป็นการแข่งขันช่วงชิงปริมาณน้ำมันสำรองภายในประเทศแต่ยังเป็นการแผ่อำนาจจากโลกตะวันออกที่ท้าทายอย่างสหรัฐฯ จะเห็นได้จากการซื้อบริษัทน้ำมันของจีนที่กำลังทาบทามซื้อบริษัทยูโนแคลของสหรัฐฯ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ ณ เวลานี้
ทั้งนี้ รายงานของสภาข่าวกรองแห่งชาติ ที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า การเพิ่มบทบาทขึ้นของจีนและอินเดียจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าภูมิศาสตร์ของโลก โดยที่จีนและอินเดียกำลังมองหาแหล่งน้ำมันสำรองโดยเน้นไปที่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ เช่น อิหร่าน และประเทศที่ไม่เข้าฝักใฝ่ฝ่ายใดเลย
ในเดือนธันวาคม 2548 ภูมิภาคเอเชียจะมีการประชุมสำคัญของผู้นำที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนได้มองว่าจีนจะใช้เวทีการประชุมนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของเอเชียแทนญี่ปุ่น โดยประเทศที่จะเข้าร่วมประชุมได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน +จีน+ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แนวคิดของการจัดตั้งประชาคมแห่งเอเซีย(EAC = East Asia Community) เป็นแนวคิดของ ดร.มหาธีร์โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่เสนอให้มีการประชุมผู้นำทางการเมืองของเอเชียเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหรัฐฯ ในการเข้ามาผูกขาดเศรษฐกิจในเอเซีย แต่ญี่ปุ่นและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ขัดขวางอยู่ตลอดเวลา ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐฯ จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้จีนได้มีการเคลื่อนไหวและเข้ามามีบทบาทในเอเชียเพิ่มมากขึ้นโดยอาสาริเริ่มในหลายเรื่องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น
สำหรับการตัดสินใจปรับค่าเงินหยวนที่ผ่านมาในรอบ 10 ปีของจีน นั้น นักวิเคราะห์หลายรายชี้ให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวและเป็นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ไม่ได้ทำเพราะแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูการเคลื่อนไหวในการปรับตัวของเศรษฐกิจธุรกิจในประเทศ และมีผลต่อเนื่องที่จะส่งไปถึงคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้รอดภาวะเงินเฟ้อมาได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการตรึงค่าเงินหยวนของจีน
ประเด็นวิเคราะห์:
นับแต่จีนได้ปรับค่าเงินหยวนมา ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สูญเสียบทบาทการเป็นผู้นำในการเป็นสกุลเงินเด่นของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของโลกลงไปมากเมื่อธนาคารกลางหลายประเทศได้ลดสัดส่วนสำรองเงินดอลลาร์ลงโดยหันไปถือเงินสกุลยูโรในสัดส่วนที่สูงขึ้น และจีนเองได้ปรับลดส่วนแบ่งของเงินดอลลาร์ลงไปเรื่อยๆ พร้อมกับประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยง ดังนั้น อาจจะเป็นเหตุให้เงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ อ่อนค่าลงได้อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ