คำกล่าวเปิด การประชุมนโยบายการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 14, 2005 15:40 —กระทรวงการคลัง

                                   คำกล่าวเปิด
การประชุมนโยบายการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ
ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ณ ห้องประชุมใหญ่ กรมสรรพากร
16 กุมภาพันธ์ 2548
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่าน ทั้งท่านประธานกรรมการ ทั้งท่านกรรมการผู้จัดการใหญ่ของรัฐวิสาหกิจทุกท่าน ขอต้อนรับสู่กระทรวงการคลัง จริง ๆ แล้วตึกนี้ผมก็ไม่ค่อยได้มาเท่าไหร่ แต่เป็นตึกที่ผมเชื่อว่าฮวงจุ๊ยดีที่สุดในบรรดาตึกที่มีอยู่ในกระทรวงการคลัง ฮวงจุ๊ยดีมาก ภาษีรายได้มาด้วยดีโดยตลอด
ต้องขอขอบคุณจริง ๆ ที่วันนี้สละเวลามา และผมตั้งใจว่าจะไม่รบกวนเวลาพวกท่านมากนัก แล้วสิ่งที่ผมตั้งใจจะมาเรียนต่อท่านในวันนี้ไม่มีใครสั่งมา แต่ผมอยากจะมาหารือจริง ๆ ด้วยความตั้งใจจริง ผมอยากจะช่วยท่านนายกรัฐมนตรีพัฒนาและยกระดับรัฐวิสาหกิจของประเทศให้แข็งแรง และก็อยากให้กระทรวงการคลังเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับทุก ๆ รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เพียงเฉพาะแค่ว่าถือหุ้นและก็คุมคน อย่างนั้นผมไม่ต้องการ ผมต้องการให้เราเป็นแนวร่วมที่ใกล้ชิดกัน เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาให้พวกท่านได้ จะทำอย่างไรที่จะทำให้แต่ละรัฐวิสาหกิจดีขึ้นได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ และผมเชื่อว่าถ้าหากเรายังไม่สามารถทำภายในเวลา 4 ปีข้างหน้าได้ โอกาสที่จะทำได้ในอนาคตข้างหน้าจะไม่มีแล้ว เพราะ 4 ปีข้างหน้านี้เป็น 4 ปีที่เสถียรภาพทางการเมืองจะแข็งแรง ฉะนั้นการพัฒนาต้องการอาศัยพลังร่วมที่แข็งแรง พลังการเมืองที่เข้มแข็ง ผมก็เลยมองว่าจะใช้โอกาสนี้มาหารือและตระเตรียมแนวทาง เพื่อเตรียมเรื่องสำหรับรัฐบาลใหม่ เมื่อมีรัฐมนตรีท่านใหม่เข้ามาแล้วจะดำเนินการต่อไปได้เลย ขณะนี้อะไรที่เป็นเรื่องหลัก ๆ ผมจะไม่เซ็น อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญผมจะไม่ลงนาม แต่จะพยายามเตรียมเรื่องเอาไว้ เมื่อรัฐบาลใหม่ Form มาแล้วจะได้ไม่เสียเวลาที่จะทำ
ผมมีตัวเลขบางตัวที่ผมขอข้อมูลจากทาง สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) มาดู จะเห็นชัดว่ามีช่องว่าอีกเยอะที่เราจะทำอะไรกันได้ ในขณะนี้ถ้าเราดูจำนวนรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังดูแลอยู่ ก็มีประมาณสัก 60 แห่ง ใน 60 แห่งนี้ทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นตกแล้วประมาณ 5.3 ล้านล้านบาท ในทรัพย์สิน 5.3 ล้านล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นหนี้สินประมาณ 4 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกันมาก รายได้ทั้ง 60 แห่งนี้ ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ตกแล้วประมาณ 1.76 ล้านล้านบาท ที่เป็นกำไรสุทธิประมาณ 199,000 ล้านบาท พูดง่ายๆ ก็คือประมาณ 200,000 ล้านบาท
พอดูตัวเลขนี้แล้วจะเห็นว่าปกติที่เป็นข่าวออกไปส่วนใหญ่แล้วจะเป็นตัวหนี้สิน ว่ามีหนี้สินเยอะแยะ 4 ล้านล้านบาท นี่มันไม่น้อยนะ แต่ในขณะเดียวกันนี้ Asset ทรัพย์สินเราก็มีเยอะ 5. 3 ล้านล้านบาท นี่มหาศาลเลย ผมว่าประมาณเกือบ 80% ของ GDP ถือว่าใหญ่มาก รายได้ที่สร้างขึ้นมาได้ 1.76 ล้านล้านบาทก็ถือว่าพอใช้ได้ ไม่ใช่ว่าน่าเกลียดจนเกินไป กำไรประมาณ 200,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับตัวรายได้ก็ตกประมาณ 11% ประมาณ 10 หรือ 11% แถวนั้น ก็ถือว่าไม่เป็นไร
แต่พอเราดึงรัฐวิสาหกิจบางกลุ่มออกไป เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ดึงออกไป กลุ่มที่เข้ามาจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แล้วออกไป ทั้งหมดก็ประมาณ 14 แห่ง ดึงออกไป เหลือ 46 แห่ง ทรัพย์สินจริงๆ จาก 5.3 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 1.73 ล้านล้านบาท ตัวหนี้สินเหลือ 1.04 ล้านล้านบาท ก็ใกล้เคียงกัน Asset กับ Liability พอ ๆ กัน แต่รายได้นี้เห็นชัด คือจาก 1.76 ล้านล้านบาท เหลือประมาณ 0.8 ก็คือเหลือประมาณ 800,000 กว่าล้านบาท พูดง่ายๆ ว่า รายได้ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้จากรัฐวิสาหกิจ 46 แห่ง เหลือเพียงครึ่งเดียว ถ้าเราเอาสถาบันการเงินกับบริษัทที่ List ไปแล้ว ออกมา เหลือประมาณครึ่งหนึ่ง
กำไรสุทธิจากที่เดิมประมาณ 199,000 ล้านบาท หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 66,000 กว่าล้านบาท คือเหลือประมาณ 1 ใน 3 ของกำไรสุทธิที่มีอยู่ รายได้เหลือครึ่งเดียว กำไรสุทธิเหลือประมาณ 1 ใน 3 ถ้าเทียบกำไรสุทธิกับรายได้ก็เหลือประมาณ 7% กว่าๆ ตรงนี้เป็นเรื่องที่พอเอาตัวเลขมาดูแล้ว เราจะรู้เลยว่ามีช่องที่เราจะสามารถพัฒนาได้ ที่สำคัญก็คือว่าในปี 2545 เรามีรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนประมาณ 12 แห่ง มาปี 2547 มีที่ขาดทุนประมาณ 13 แห่ง ขาดทุนทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 13,000 ล้านบาท ถ้าเราดูตัวเลขเหล่านี้แล้วมาดูอนาคต ขณะนี้รัฐวิสาหกิจทั้งหมด 60 แห่ง มีงบลงทุนประมาณ 300,000 กว่าล้าน เราตีประมาณ 400,000 ล้านบาท แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า มันไม่ใช่ 400,000 ล้านบาท 300,000 กว่าล้าน 400,000 ล้านบาท เทียบแล้วประมาณ 70% ของงบลงทุนของภาครัฐทั้งหมด แปลว่างบอะไรก็แล้วแต่ที่รัฐบาลไปลงทุน มันไม่ใช่ไปลงทุนในงบประมาณเป็นหลักใหญ่ แต่เป็นการลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นเมื่อเรามองไปในอีก 4 — 5 ปีข้างหน้า นโยบายรัฐบาลชัดเจน ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่า การลงทุนนี้เป็นเรื่องใหญ่
เมื่อวันก่อนนี้มีทีมที่ปรึกษาทีมหนึ่งเขามา Brief ตัวเลขให้ฟังน่าสนใจมาก เขาไปเดินสายรอบโลก พบกับ Foreign investor เยอะมาก แล้วเขาก็ Present สิ่งที่เขาพบจาก Foreign investor ที่เล่าให้ฟัง คือขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลค่อนข้างสูงทีเดียว และก็เชื่อว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมาในอดีตถูกต้อง และก็เชื่อว่าการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือการลงทุนในการศึกษาทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ คือเขาไม่ได้มีอะไรรังเกียจเลยว่าการลงทุน มีงบทั้งหมด 5 - 6 ปีข้างหน้า 2 ล้านล้านกว่านี้ เขาบอกต้องทำ และเป็น Strategic move ที่ถูกต้องด้วย ถ้าคุณมัวแต่ทำทีละชิ้นทีละอันกว่าจะครบทั้งหมดคนอื่นเขาไปถึงไหนแล้ว
แต่เขาสนใจอย่างเดียวคือว่าใครเป็นคนลงทุน จะดูแลเม็ดเงินลงทุนเหล่านั้นให้มันเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร และการลงทุนทั้งหมดนั้นจะกระทบต่อดัชนีเศรษฐกิจของเราในกรอบกว้าง จะกระทบเสถียรภาพไหม มีปัญญาจ่ายหนี้ไหม เสมือนครั้งหนึ่งที่ผมเคยถูกต่างประเทศถามตลอดเวลาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ว่าปีหน้าภาระหนี้ต่อ GDP เป็นเท่าไหร่ ภาระหนี้ต่องบประมาณเป็นเท่าไร จะ Financing หนี้ได้ไหม เพราะฝรั่งคิดอย่างเดียวว่าคุณมีปัญญาในการใช้หนี้หรือไม่ เขาไม่สนใจเลยตอนนั้น ไม่สนใจเลยว่าคุณจะเอาเงินมาทำอะไรพัฒนาอะไร คุณทำแล้วมีปัญญาใช้หนี้ที่ติดหนี้ผมอยู่หรือเปล่า ในขณะนั้นเราได้ Develop framework ออกมาตัวหนึ่ง 4 - 5 ปีบอกว่า Indicator ต่างๆ ไม่ว่าหนี้ต่อ GDP หรือหนี้ต่ออะไรต่างๆ นี้ เราไปได้ พอจากจุดนั้นเราสามารถบรรลุเป้าอันนั้นได้ ความเชื่อถือมันก็เกิด
มาขณะนี้โจทย์เปลี่ยนไป แต่คำถามเก่าเริ่มกลับมา โจทย์ในขณะนี้คือว่าเราพ้นแล้ว เราแข็งแล้วแต่เราจะลงทุนไปสู่ข้างหน้า ฝรั่งก็บอกว่าเขาเชื่อคุณทำได้ เมื่อก่อนไม่เชื่อ ตอนนี้มองว่าที่ผ่านมาเราทำได้จริงนี่นา อนาคตเราเชื่อว่าคุณทำได้ แต่จะมีผลต่อเสถียรภาพอย่างไร คำถามเก่า พอเป็นอย่างนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายและตั้งใจเลยว่า
1.ทำอย่างไรที่จะทำให้การใช้งบลงทุนเหล่านั้นไม่กระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผมก็มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ท่านปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และก็มีทีมงานทั้งหมดและองค์กรที่ที่เกี่ยวข้องมาดู อย่างน้อยๆ มีกรอบว่าแต่ละปีนั้นเราไปได้ไม่กระทบเลย
2. เมื่อเราวาง Framework ทางการเงินแล้วทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเรารัฐวิสาหกิจทั้งหลายสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับในการลงทุนในขณะนั้นได้ เตรียมความพร้อม ผมหมายถึง
1) Capability ความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ เป็นเรื่องแปลกมาก เวลาเราพูดถึงเรื่องรัฐวิสาหกิจที่ไรคนมักนึกถึงเรื่องการแปรรูป การเอารัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ อันนั้นเป็นเรื่องท้ายสุดที่จะพูด แต่หัวใจสำคัญก็คือว่าความพร้อมความสามารถของบุคลากรที่จะรองรับใน 4 — 5 ปีข้างหน้า เราเตรียมพร้อมหรือยัง เราจะทำกันอย่างไร สมมุติว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จากเงินการลงทุน Exact X ล้านบาท กำลังคนที่มีอยู่นี่พร้อมไหม คนบริหารการเงิน คนบริหาร Operation ทุกอย่างพร้อมไหม การท่าเรื่อ อีกหน่อย Logistic นี้สำคัญมาก พร้อมไหม แล้วเรื่อง Capability ตัวนี้ที่ผมสนใจที่สุด ว่าจะทำอย่างไร
2) แน่นอนคุณลงทุนไปแล้ว คุณต้องสร้างรายได้ ทำอย่างไรที่จะเพิ่มรายได้เข้ามา เพราะเมื่อสักครู่นี้เราบอกตัวเลขคร่าวๆ แล้ว รวมทั้งหมดรายได้ 60 แห่ง เราสร้างรายได้ ประมาณ 1.76 ล้านล้านบาท ต่อไปข้างหน้าลงทุนอีก X ล้านล้านบาท ความสามารถในการสร้างรายได้เป็นอย่างไร การลดค่าใช้จ่ายทำอย่างไร การลดการค่าใช้จ่ายไม่ใช่หมายความว่าเอาคนงานออก ไม่ใช่ ไม่มีเลย แต่ว่าคุณจะเพิ่ม Efficiency ของการทำงานนี้ได้อย่างไร การบริหารหนี้ บริหารเงินให้ต้นทุนต่ำที่สุดทำอย่างไร ถ้าคุณมีหนี้ 100 ล้านบาท ยังไม่เป็นไร แต่ถ้ามีหนี้เป็นพันล้านบาท การบริหารโครงสร้างหนี้ถ้าบริหารได้ดีพอ Cost มันหล่นต่ำมาก เป็นตัว Save cost มหาศาลเลย จะทำอย่างไร
เมื่อเราบอกว่าเราต้องการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่ม Efficiency เพิ่ม Capability ของทรัพยากรมนุษย์ของรัฐวิสาหกิจ ก็เกิดคำถามว่าอย่างนี้บทบาทของ สคร. ขณะนี้ถูกต้องหรือไม่ เพียงพอหรือไม่ ผมก็หารือกับท่านปลัดกระทรวงการคลัง ว่าไม่เพียงพอแล้ว ต้องไปด้วยกัน ต้องดึงพันธมิตรร่วมกัน ก็ได้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรีว่าจากวันนี้เป็นต้นไปต้องมีความใกล้ชิดกันระหว่างกระทรวงการคลังกับรัฐวิสาหกิจ ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งมาเลยว่าต้องเข้าไปดูใกล้ชิดเลยแต่ละรัฐวิสาหกิจ ไปช่วยเขา ไป Turn around เขา ไปร่วมกับกระทรวงที่เขาดูแลอยู่ ทำอย่างไรที่จะยกระดับเขาขึ้นมาให้ได้ ให้พัฒนาได้ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจ บางรัฐวิสาหกิจหนี้สินบานทะโร่เลย แค่เห็นตัวเลขหนี้ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เป็น 10 ปี ต้องหาทางเอาตรงนี้ออกมาให้ได้ เพื่อลด Burden เขา เขาจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่สักที ไม่อย่างนั้นชีวิตมันเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ มันแบกหลังแอ่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ไม่มีทางเกิด รัฐวิสาหกิจที่กำไรแล้วจะทำอย่างไรให้เขาแข็งแรงมากขึ้น
ดูตัวอย่างง่ายๆ เลย ดูอย่าง ปตท.วันนี้ ย้อนกลับไป 10 — 20 ปีที่แล้ว ปตท. มีอะไร วันนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่รายยักษ์ใหญ่ที่มุดเข้าไปอยู่ใน Fortune 500 นี่คือรัฐวิสาหกิจ เราก็อยากให้รัฐวิสาหกิจของเราเป็นอย่างนั้นทุกแห่ง คือแข็งแรง คนเก่ง มีความสามารถ เงินเดือนสูง มันไปได้หมด ก็รับ Mandate ท่านนายกรัฐมนตรีมา แล้วก็มานั่งคิด สิ่งแรกเลยที่ผมคิดจะทำ แต่คงทำผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังท่านใหม่มาแล้วผมก็อยากมอบนโยบายให้กับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ
1. สิ่งที่เราพูดกันมามากคือCorporatization เราไม่ได้พูดPrivatization Corporatization คือทำให้มี Corporatization ลักษณะการบริหารแบบบริษัทจำกัด สมือนหนึ่งบริษัทเอกชน พอมาดูวิถีแบบไทยๆ พอบอก Corporatization คนมองถึงอะไร เปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจดทะเบียน บริษัทมีหุ้นเท่านั้นเอง ตรงนี้ไม่ใช่ การแปลงรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทจำกัด และก็มีโครงสร้างการถือหุ้น อันนั้นเป็นเพียงเปลือก แต่ Corporatization คือทำอย่างไร ที่จะให้รัฐวิสาหกิจ ก. ไก่ พอเป็นบริษัทแล้วสามารถบริหารแบบเอกชนไม่ใช่แบบราชการ
เมื่อเช้านี้ผมทานข้าวกับปลัดกระทรวงการคลัง แล้วก็ สคร. เรื่องสำคัญที่ถัดมาจากเรื่องการจดทะเบียนเป็นบริษัทก็คือว่าทำอย่างไรถึงเข้าไปดูเรื่องกฎระเบียบของรัฐวิสาหกิจ อะไรที่เป็นตัวผูกมัดมือมัดเท้าจนเขาไม่สามารถขยับ พวกนี้ไม่เคยมีใครดู ผ่อนคลายให้หมดที่จะผ่อนคลายได้ คือเราจะให้เขาวิ่งได้เราต้องไม่ไปมัดเขาจนเขาทำอะไรไม่ได้ ผมไม่รู้ว่ามีว่ามีกฎระเบียบอะไรบ้าง กฎระเบียบที่ทำให้การทำอะไรงุ่มง่ามต้องขออนุมัติเล็กๆ น้อยๆ อย่าให้มี
2. กฎระเบียบอะไรที่ทำให้รัฐวิสาหกิจไม่ทำงานแล้วไม่ผิด คิดอย่างนั้นขอให้หายไป คือมันกลายเป็นว่าระบบราชการรัฐวิสาหกิจ ใครไม่ทำถือว่าไม่ผิด ใครแกล้งโง่ถือว่าฉลาดด้วยซ้ำ Attitude อย่างนี้น่ากลัวมาก คือไม่ทำไม่ผิด ก็แปลว่าทำไปมีแต่ผิด ถูกฟ้องอย่างเดียว ความชอบไม่มี พลาดแล้วติดคุก อย่างนี้ใครที่ไหนจะทำงาน ข้อ 2. แกล้งโง่แล้วเจริญ ฉลาดแล้วตกต่ำ อย่างนี้ต้องให้มันหายไปจากวงการ ต่อไปนี้ให้ใครทำดีใครกล้าทำใครคิดอะไรมันต้องมี Visionary ฉะนั้นกฎระเบียบบางเรื่องต้องไปดูแล้ว กฎที่มันออกมาเพี้ยน ๆ ทำให้ทุกอย่างทำให้มันยากขึ้นๆ จนกระทั่งว่าป้องกันหมดเลยจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้เลย ฉะนั้นสคร.ต้องไปผลักดันให้มีการแก้ไข ไม่อย่างนั้นรัฐวิสาหกิจไม่มีทางเจริญ คิดอย่างเดียวคือว่าทำอย่างไรไม่ผิด แท้ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้อง เสร็จเลย อันนี้เห็นใจคนที่ทำงาน
เรื่องกฎระเบียบแล้ว เรื่องของบทบาทคณะกรรมการ เดี๋ยวจะพูดตอนท้าย ต่อจากนี้ไปบทบาทของคณะกรรมการ กับ CEO เป็นบทบาทที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังไว้มาก คือเราจะพยายามช่วยเหลือคณะกรรมการ แต่คณะกรรมการกับ CEO ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องของการกำหนดแผนงาน การกำหนดยุทศาสตร์แล้วก็จะต้องมีการวัดผล แต่ในระหว่างนั้นหากมีอะไรให้ช่วยบอกเลย อุปสรรคมีอะไรขอให้พูดเลย ผมได้เรียนท่านปลัดว่าเราอยากจะมี Pool ของ ทีมที่ปรึกษาทั้งกลุ่มเลย เอาผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ ทั้งที่เคยเป็นผู้ใหญ่ในวงการราชการรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่ง กับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเอกชนอีกส่วนหนึ่ง มา Pool เป็น Advisor กลางของสำนักรัฐ เพื่อว่าจะแบ่งเลยว่าคนๆ นี้ และทีมให้ไปช่วยที่ไหน เป็นการช่วยเสริม เป็นต้น ทุกปีๆ สมัยก่อนคณะกรรมการทำแผนออกมาแล้ว CEO ส่งผ่านทางสภาพัฒน์ สภาพัฒน์ Pool รวมเป็นงบลงทุนเสร็จแล้ว ก็ไป Set ในครม. จากนี้ไปไม่ใช่
จากนี้ไปคณะกรรมการและ CEO กำหนดแผนงานทุกอย่างออกมาแล้วจะต้อง Present ต่อใครเราต้องคุยกัน Present ออกมาว่าเป้าหมายปีนี้เป็นอย่างนี้ ว่าต้องใช้ Budget เท่าไร อย่างไร คิดออกมา ไปช่วยกันหา พูดง่ายๆ คือว่า Pro-active จะไม่ใช่ Reactive แล้ว คือไม้ส่งไปเลยที่รัฐวิสาหกิจ แต่ในขณะเดียวกันนี้ Burden ต่างๆ ที่เขามีอยู่นี้ กระทรวงการคลังต้องเข้าไปช่วยเขา
การทำ Training อันนี้จะทุ่มกันสุดๆ เพราะเราบอกแล้วว่าอีก 4 ปี ข้างหน้า การลงทุนเยอะแน่ เพราะฉะนั้นการฝึกฝนบุคลากรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จัดงบประมาณครั้งต่อไปนี้ จะให้มีสิ่งเหล่านี้ ทั้งจากทางสคร.ส่งไป หรือว่าทางท่านจัดขึ้นมา และกระทรวงการคลังจะช่วย Defend ให้ หรือของบพัฒนา พัฒนาคน พัฒนาเครื่องมือ ทุกอย่างให้มันมีเหตุมีผล เราจะช่วยเต็มที่
ฉะนั้นคำว่า Corporatization ของผม มันเริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติ ว่าผมไม่ใช่ราชการ ผมทำงานมีเป้าหมายนะ ผมหวังที่เหตุผล และก็สร้างคนขึ้นมา สร้างระบบขึ้นมาทำงานและต้องการความช่วยเหลืออะไรบอกเลย สคร. จะต้องไม่ใช่ผู้คุมกฎ สคร.มีหน้าที่เข้าไปช่วยประสานงาน ช่วยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นอุปสรรคหายไป ถ้าเราสามารถวางระบบได้ มอบหมายอำนาจ มอบหมายความรับผิดชอบกับคณะกรรมการ CEO งานมันก็จะมีเจ้าภาพ อันนั้นคือ Corporatization ไม่ใช่แค่จดทะเบียนบริษัท
จาก Corporatization สิ่งที่สอนให้ผมมองว่าสำคัญนั้นคือเรื่องของ Cluster Cluster ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะ Cluster ผู้ว่าการจังหวัดที่เราเคยทำ ต่อจากนี้ไปรัฐวิสาหกิจใดที่เป็นตัวเขาเองโดดๆ ได้ ก็อยู่โดดๆ ไป แต่ถ้าหากว่าเกี่ยวข้องใกล้เคียงกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เราก็พยายามที่จัดให้มี Clusterของเขาโดยเฉพาะ เพื่ออะไร เพื่อว่าเวลาเขาวางยุทธศาสตร์ เขาจะได้วางยุทศาสตร์ร่วมกัน ไม่ซ้ำซ้อนกัน ประสานการลงทุนร่วมกัน งบประมาณสามารถ Set ร่วมกันได้ด้วยซ้ำไป แทนที่จะเป็นคู่แข่งกันต่างคนต่างไป ให้เป็น Cluster เสีย และใน Cluster นี้ถ้าหากมีความจะเป็นและมีประโยชน์ในการสร้าง Sector holding หมายความว่าเป็นอีกบริษัทหนึ่งขึ้นมาแล้วก็ถือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง 2-3 แห่ง ที่มีจุดร่วมเชิงยุทศาสตร์ ก็ Form ขึ้นมาเป็น Cluster แล้วก็อาจจะมีคณะกรรมการรวมอยู่ที่ Cluster, sector จะได้เป็นคนประสานงานเพื่อไม่ให้รัฐวิสาหกิจ 2 - 3 อันนั้น ต้องมาทะเลาะกัน มาตีกัน คือผู้ใหญ่ต้องไปอยู่ตรงนั้นเลย มานั่งคุยกันก่อนว่า 4 - 5 ปีข้างหน้าจะต้องมียุทศาสตร์อย่างนี้ Logistic ต้องไปทางนี้ ฉะนั้นท่าเรือไปทางนี้ อันนี้ไปทางนี้ จะได้มีการวางแผนร่วมกัน มันก็เกิด Economy of scale, economy of scope มันก็จะประหยัดขนาดได้ นี้คือที่มาของ Sub holding ฉะนั้นความเข้าใจที่ชอบมีข่าวว่ามี Sub holding แล้ว เพื่อเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผมก็ไม่รู้ว่าเอาข่าวมาได้อย่างไร คือเรื่องผู้เข้าตลาดถูกบิดเบือนจนกระทั่งเสียหายหมดแล้ว คนเข้าใจผิดหมดเลย การมี Holding ก็เพื่อให้มีการประชุมร่วมกันเป็นเหมือนหนึ่งเดียว ก็คือ Concept SBU ธุรกิจ กลุ่มซึ่งมียุทศาสตร์ใกล้เคียงกัน สอดคล้องกันเป็นแนวร่วมกันให้มาอยู่ด้วยกัน แต่ว่าเนื่องจากแต่ละองค์กรมี Culture ของตัวเอง ก็ไม่ต้องเอามารวมกัน ก็เอามาเป็นแนวร่วมจุดยุทศาสตร์ จะวางแผน จะพัฒนาบุคลากร มาหารือกัน จะกู้เงินเป็น Package จะทำอย่างไร มันก็เกิดประโยชน์ขึ้นมา แล้วทีหลังถ้าใครพร้อมจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็มาว่ากัน ถ้าตัวรัฐวิสาหกิจคนเดียวเข้าได้ ก็เข้าที่รัฐวิสาหกิจนั้น ถ้าบอกว่าเข้าตรงนั้นไม่เหมาะ น่าจะเข้าที่ Holding ก็เข้าที่ Holding แต่ว่าอย่างไงก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีคำว่าขายสมบัติของชาติ ไม่รู้เอาที่ไหนมาพูดกัน
จากตรงนี้ Concept ของ Cluster อีกหน่อยจะมีที่ปรึกษา Cluster ผมขอจาก สคร. หาให้เลยว่าส่วนหนึ่ง สคร. จัดหาให้เลย บริษัทที่ปรึกษาไป Attach ที่ Cluster เขาจะได้ช่วยวางแผนให้เลยว่าจะฟื้นฟูอย่างไร จะพัฒนาทำอย่างไร เป็นอีกสมองหนึ่งที่ช่วยรัฐวิสาหกิจ ส่วนรัฐวิสาหกิจจะมีที่ปรึกษาเดิมของตัวเองอยู่หรือไม่ไม่เป็นไร มีของเขาได้ แต่เราอยากจะมีทีมอันนี้ที่จะไปช่วยเขาโดยเฉพาะ ไป Attach ที่ Cluster อันนี้เป็นความตั้งใจ
แต่จุดที่จะมีความสำคัญมากก็คือจุดสุดท้าย คือเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างการกำกับดูแล ตรงนี้สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการเห็นก็คือว่าต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน แต่เดิมมี กนร. เรากำลังคิดว่าเราจะให้มีสิ่งที่เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็น Body ใหญ่ เป็น Super body ขึ้นมา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และก็มีรัฐมนตรีหรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็น Body กลาง จากนั้นก็จะมีการจัดตั้งที่เราเรียกว่า Super holding หรือว่า State holding คือพูดง่ายๆ คือว่าองค์กรใหญ่ตรงกลางนี้ ที่จะมีระบบกลางบริหารจัดการ คอยดูแล แต่เดิมเราบอกว่ากระทรวงดูแลแต่จริงๆแล้วกระทรวงไม่ค่อยดูแลเท่าไร เพราะเวลาไม่ค่อยมี ต่างคนต่างก็ทำงานไป แต่เราต้องการให้มี Body กลางอันหนึ่ง
สมัยหนึ่งอาจารย์สังเวียนนี้เคยร่างอะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วก็ใช้ชื่อว่า “รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ” หรือที่ปลัดคลังผมเรียกว่า Super holding จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ไม่สำคัญ แต่คือองค์กรตรงกลางเป็นหน่วยงานกลางที่มาดูเรื่องการบริหารจัดการโดยเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเงินการทอง ฉะนั้นใน Super holding ตัวนี้ก็จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งและก็มี CEO ซึ่งทั้งหมดนี้สรรหาแต่งตั้งโดย Super body คือคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมาดูแล แล้ว Holding อันนี้จะเป็นคนถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแทนกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังก็ไปถือหุ้น 100% ของตัว Super holding พูดง่าย ๆ ก็คือว่ากระทรวงการคลังแต่เดิมถือหุ้น และก็ Suppose ว่าจะไปช่วยดู
ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นี่ก็คือว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100% แต่จะมีบริษัทเขาเรียกว่าเป็น Super holding เป็นคนดูแล การแต่งตั้งคณะกรรมการ ก็จะแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ Super body อันนั้น โดยปรึกษาหารือร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่ารัฐวิสาหกิจนี้ คุณจะมีใครเป็นกรรมการบ้าง คือไม่ใช่ทั้งจากกระทรวงการคลัง ไม่ใช่ทั้งจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นการปรึกษาหารือร่วมกันโดยที่มี Super body คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเป็นคนสรรหามา ฉะนั้นถ้าท่านดูตามอันนี้ก็คือว่า ก็จะมีคณะกรรมการใหญ่ มี สคร. เป็นสำนักเลขาฯ มี Holding กลาง หรือที่เรียกว่า State holding นี้ อยู่ตรงกลางหรือจะเรียกบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ หรือก็แล้วแต่ อันนี้ที่สิงคโปร์เขาเรียกว่า Temasak เอามืออาชีพเข้ามาดูเลย และตรงนี้เขาก็จะถือหุ้นรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย จะถือหุ้นรัฐวิสาหกิจโดยตรง ถือหุ้น Sub holding และอนาคตข้างหน้าถ้าเกิดมีโครงการรัฐบาลไปลงทุน พอลงทุนปั๊บคนที่ถือหุ้นคือใคร ก็คือบริษัทนี้แหละ ซึ่งกระทรวงการคลังถือ 100% ไปถือหุ้น ขณะที่อะไรๆ กระทรวงการคลังก็ถือหุ้น อีกหน่อยก็คือถือผ่านองค์กรอันนี้ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % อยู่แล้ว ฉะนั้นตัวใหญ่นี้จะไม่มีการดันร่วมหุ้นเด็ดขาด กระทรวงการคลังถือ 100% อย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีการเข้าตลาดไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพราะว่านี้คือการ Control ทรัพย์สมบัติของชาติทั้งหมด ต่อจากนี้ไปใครจะมาบอกว่าขายทรัพย์สมบัติของของชาติ ไม่ต้องมาพูดกันเลย คนละเรื่อง
ฉะนั้นแนวทางของการดูแล ก็จะมีผู้ที่รับผิดชอบ การแต่งตั้งอะไรก็แล้วแต่ก็หารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในคณะกรรมการใหญ่ก็มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั่งอยู่เป็นกรรมการอยู่แล้ว ก็หารือกัน ฉะนั้นก็มีคนที่คอยดูแล อำนาจการทำงานก็อยู่ที่คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง หรือ สคร. ก็จะพยายามหาทีมที่ปรึกษาไปช่วย ช่วยกัน Set เป้าหมาย ช่วยกันทำแผน ช่วยกันพัฒนาบุคลากร ยกระดับขึ้นมา ส่วนแผนของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับความพร้อม แต่ว่าต้องให้มีเรื่องของ Regulatory ให้เรียบร้อยก่อน มันจะได้ไม่มีปัญหา อะไรที่เกี่ยวกับสังคม ไม่ใช่เกี่ยวกับเชิงพาณิชย์ ก็อยู่ต่างหาก อะไรที่ว่าต้องเข้าตามนโยบายรัฐบาลก็ทำไป อันนี้อยู่สุดท้าย แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเวลาพูดที่ไรอันนี้อยู่หน้าทุกที
ถ้าทำอย่างนี้ได้ผมเชื่อว่าภายใน 3 - 4 ปี ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยอย่างรัฐวิสาหกิจ ก. ไก่ หนี้สินเขาเยอะแยะเลยแต่จำเป็นมาก สคร. กับที่ปรึกษาต้องไปช่วยเขา ทำอย่างไรจะพักหนี้สินเหล่านี้ให้เขาสามารถหายใจและเติบโตได้ ต้องคิดเลย ไม่อย่างนั้น ถ้าเขาต้องแบกหนี้ตลอดไป และถ้าเขาต้องลงทุนเพิ่ม เขาจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาบุคลากร ไปสร้างองค์กรของเขา มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราพยายามคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ และก็ขอแรงพวกท่าน ช่วยกันสื่อความให้พนักงานเข้าใจ เมื่อเขาเข้าใจเขาจะรู้เจตนาของรัฐบาลทำเหล่านี้เพื่ออะไร และถ้าเรานึกภาพดูว่าถ้าทำแบบนี้ ถ้าท่านสามารถเพิ่ม Return of access แค่ 1% หรือ 2% ต่อปี มันเป็นเงินเท่าไร
การที่ทุกคนเวลาไปพูดมีแต่หนี้สิน แต่พอพูดถึงทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่มี Valueมาก แต่ไม่ได้ขาย เป็นทรัพย์สินที่เราสามารถ Generate revenue ในเชิงของการทำงานนี้มหาศาล แต่ถ้าเราเป็นอย่างนี้ ท่านจะเห็นเลยว่าเรื่องตั้งแต่ Corporatization ตั้งแต่การให้มีระบบ Cluster ช่วยเหลือกัน ตั้งแต่การที่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างขบวนการองค์กรและขบวนการจัดการ ผมยังอยากจะเห็นเลยว่าแต่ละรัฐวิสาหกิจปรับปรุงโครงสร้าง อะไรที่มันทันสมันเปลี่ยนได้เลย ไม่ต้องมีกฎระเบียบมา Lock ไว้ โลกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว Set โครงสร้าง ยัง Function ตามฝ่ายกำกับ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ฝ่ายธุรการ ฝ่ายที่มันยังล้าสมัย 40 ปีให้หลังแล้ว ทำได้อย่างไร ฉะนั้นเรื่องของการ Set โครงสร้าง อย่าว่าแต่รัฐวิสาหกิจเลย กระทรวงการคลังก็ต้องเปลี่ยน เพื่อให้มันคล่องตัว เร็ว และถ้าเราร่วมกันทำอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้
ผมเชื่อว่า อีก 3-4 ปี ข้างหน้า เราสามารถพลิกรัฐวิสาหกิจได้ ศักยภาพมันมี คนรัฐวิสาหกิจก็มี แต่มันมีน้ำหนักที่ทิ้งอยู่ แบกอยู่ข้างหลัง น้ำหนักมันเยอะ ก็เลยเชิญพวกท่านมาพูดคุย และพวกผมจะพยายามเตรียมการให้พร้อม จากนี้ไปผมตั้งใจเลยว่าจะหาโอกาสพบปะเป็นรายรัฐวิสาหกิจ ไปพูดคุยกัน มีอะไรบอกจะได้ช่วยกันได้ เตรียมงานกันได้ อยากให้ดึงมหาวิทยาลัยมาช่วย มหาวิทยาลัยเป็น Resource ที่สำคัญมาก ดึงมหาวิทยาลัยมาช่วยและพัฒนา และถ้าเราเปลี่ยนได้อย่าง ปตท. อ.ส.ม.ท. อ.สม.ท. ช่วงนี้ไปได้ดี อีกหน่อยได้ทุกอันเลย องค์การโทรศัพท์, ก.ส.ท. มันสามารถทำให้เป็นองค์กรซึ่งทรงพลัง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า High performance organization ไม่ใช่ High profit นะ การมีกำไรอย่างเดียวไม่ได้ช่วยทำอะไรได้ แต่ High performance นี้มันผลักดันการพัฒนา ผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ๆ ฉะนั้นผมจะพูดหลักการใหญ่ ๆ เท่านี้ เดี๋ยวท่านปลัดกระทรวงการคลังจะสานต่อ พูดในบางเรื่อง และก็รายละเอียดบางอย่าง จากนั้นเราค่อยพูดจาคุยกัน
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ