ภาวะสินค้าสิ่งทอไทยในตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 17, 2005 11:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ในการเปิดเสรีการค้าสิ่งทอตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 มีสถานการณ์แข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการผลิตส่งออกสินค้าสิ่งทอหลายรายต่างให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า บริษัทเจ้าของแบรนด์เนมเสื้อผ้าชื่อดังของโลก อาทิ ไนกี้ อาดิดาส วอลล์-มาร์ต และ วี.เอฟ. ได้ให้ความเชื่อมันว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยมีคุณภาพดีได้มาตรฐานโดยมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าผลจะปรากฏชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548
นายกาสชัย แจ่มขจรเกียรติ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ลูกค้าต่างประเทศมั่นใจและสั่งซื้อจากประเทศไทยมากขึ้นน่าจะมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
1. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
2. การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มให้มีการพัฒนาคุณภาพสู่ระดับสากลมากขึ้น
3. การเปิดเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย : สหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการของไทยควรระมัดระวังเรื่องการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้ากำหนด เพราะขณะนี้ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะนำเรื่องมาตรฐานสินค้ามาใช้บังคับมากขึ้น อาทิ การห้ามใช้สารเคมีต้องห้ามในสินค้าสิ่งทอ รวมทั้งจะนำมาตรการด้านสุขอนามัยมาใช้กีดกันการนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากต่างประเทศมากขึ้น
ในการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแม้ขณะนี้จะมีการยกเลิกโควต้าการนำเข้าแล้ว แต่การส่งออกยังคงต้องใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (C/O) ประกอบทุกครั้ง เป็นการป้องกันสินค้าสวมสิทธิ์จากประเทศที่ 3
ประเด็นวิเคราะห์:
1. การเปิดเสรีการค้าสิ่งทอจะมีผลให้ผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานมีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเพราะสามารถส่งออกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ส่วนโรงงานที่ไม่มีการพัฒนาตนเองจะไม่สามารถแข่งขันได้
2. มีนักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าจีนจะมีโอกาสครองตลาดสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ถึง 50% ในตลาดโลกไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะขณะนี้คู่ค้าจะคำนึงถึงคุณภาพมาตรฐานเป็นสำคัญ
3. คู่แข่งขันสำคัญนอกจากจีนแล้วยังมีอินเดียซึ่งยังมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงาน อินโดนีเซียมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพการเมือง ศรีลังกาและบังกลาเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ส่วนเวียดนามยังไม่ได้เป็นสมาชิก WTO จึงยังมีการควบคุมโควต้าส่งออก ดังนั้น ในขณะนี้ประเทศไทยจึงยังมีข้อได้เปรียบที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ