ไทยจะได้อะไรจากการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมฯ ภายใต้ WTO

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 21, 2006 15:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า  หากการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมฯ ภายใต้ WTO ประสบความสำเร็จจะทำให้ภาษีศุลกากรถูกลง  โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วอัตราภาษีสูงจะลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10
นอกจากนี้จะทำให้เกิดการเปิดตลาดใหม่ๆ ขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศที่ผูกพันอัตราภาษีไว้ในระดับสูง เช่น อินเดีย (เฉลี่ยร้อยละ 34) ปากีสถาน (ร้อยละ35) อาร์เจนตินา (ร้อยละ 32) และบราซิล (ร้อยละ 31) เป็นต้น คาดว่าผลการเจรจาจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 15
แม้ว่าขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น แต่ภาษีสินค้านำเข้ายังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าพิจารณาในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แม้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยโดยรวมค่อนข้างต่ำ (ประมาณร้อยละ 3) แต่สินค้าบางรายการยังคงมีอัตราภาษีสูงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (อัตราภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 11 อัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 35) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (เฉลี่ยร้อยละ 9 สูงสุดร้อยละ 32) รวมถึงผลิตภัณฑ์หนัง (เฉลี่ยร้อยละ 7 สูงสุดร้อยละ 190) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็ ผูกพันอัตราภาษีนำเข้าไว้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง (เฉลี่ยประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดประมาณร้อยละ 28) และก็ไม่ต้องการลดภาษี
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจาในรอบปัจจุบัน (รอบโดฮา) จะสามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ และขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สำหรับภาคประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการได้บริโภคสินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและประมงเป็นหลัก โดยในปี 2548 จากตัวเลขการส่งออกรวม 4,436,676 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมฯ ถึง 3,772,765 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ