เมื่อวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา มีแหล่งข่าวจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการเจรจาการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ว่ากรณีพิพาทภายใต้ WTO จะเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยสาเหตุหลักมาจากการที่การเจรจา WTO ล้มเหลว และการล้มเหลวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่รัฐมนตรีการค้าที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการเจรจาเปิดตลาดโดยการลดภาษี และการลดการอุดหนุนภายในสำหรับสินค้าเกษตร
นายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก กล่าวว่าความล้มเหลวดังกล่าว จะนำมาซึ่งการไม่สามารถปิดการเจรจารอบโดฮาได้ทันในปลายปี 2549 นอกจากนี้ นายมาร์ค เวล รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลียยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าความล้มเหลวดังกล่าวจะบีบให้จากนี้ไปประเทศสมาชิกจะใช้การเวทีกรณีพิพาทมากกว่าเวทีการเจรจา ซึ่งประเทศสมาชิกก็มีสิทธิในการยกเรื่องต่างๆ ผ่านกรณีพิพาทอยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายไมค์ โจฮานส์ แจ้งว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศสมาชิกจะโจมตีสหรัฐฯ ในเรื่องต่างๆ เช่น ตอนนี้บราซิลได้ยกเรื่องการที่สหรัฐฯ อุดหนุนผู้ผลิตฝ้าย และอุรุกวัยได้ยกเรื่องการที่หสรัฐฯ อุดหนุนผู้ผลิตข้าว โดยการอุดหนุนสินค้าทั้งสองของสหรัฐฯ ส่งผลความเสียหายต่อประเทศบราซิลและอุรุกวัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี นายเซลโซ อโมริม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบราซิลกล่าวว่าในขณะนี้บราซิลยังไม่มีแผนการที่จะนำเรื่องใดเข้าสู่กระบวนการของกรณีข้อพิพาท แต่หากว่าการเจรจาไปถึงทางตัน ก็คงจะต้องพึ่งกระบวนการพิพาททางกฏหมายเป็นทางเลือกสุดท้ายแทนการเจรจาต่อรองใน WTO นอกจากนี้รัฐบาลอาร์เจนติน่าขณะนี้อยู่ภายใต้แรงกดดันจากภายในประเทศโดยผู้ผลิตอุตสาหกรรมโคนมและผลิตภัณฑ์นมได้การยกเรื่องที่สหภาพยุโรปยังให้การอุดหนุนอุตสาหกกรมดังกล่าวอยู่
ดังนั้น แม้ว่าการเจรจาอาจล้มเหลว แต่สำหรับประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใด และจากการที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปถูกโจมตีในเรื่องการอุดหนุนสินค้าฝ้าย ข้าว และนม จะส่งผลดีกับไทยเนื่องจากสินค้าทั้งสามเป็นสินค้าที่ไทยเสียเปรียบจากการอุดหนุนของทั้งสองประเทศนี้อยู่เช่นกัน และไทยยังมีสิทธิในการยกเรื่องต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้เวทีกรณีพิพาทได้ หากไทยได้รับความเสียหายใดๆ ก็ตามจากประเทศสมาชิก WTO
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-