การประชุมประจำปี ครั้งที่ 12 ของ IAIS

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2005 14:18 —คปภ.

          นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยผลการประชุมประจำปี ครั้งที่ 12 ของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคม 2548 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 
1. การสร้างระบบการกำกับดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทประกันภัยในระดับสากล
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความสามารถในการชำระหนี้ (solvency) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการดำเนินงานของสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (IAIS) ในช่วงต้นปี 2548 IAIS ได้วางหลักการสำคัญสำหรับความสามารถในการชำระหนี้ (solvency cornerstones) ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทประกันภัยในระดับสากล
2. การคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย
การคุ้มครองผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยถือเป็นวัตถุประสงค์หลักในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับบริษัทประกันภัยในการดำเนินธุรกิจ การเปิดเผยข้อมูล และหลักการปฏิบัติของคนกลางประกันภัยต่อผู้บริโภค ควรได้รับการกำหนดบนพื้นฐานของความเพียงพอในการคุ้มครองผู้บริโภค
3. การประกันภัยต่อแบบจำกัดความเสี่ยงและแบบทางการเงิน
การประกันภัยต่อแบบจำกัดความเสี่ยงและแบบทางการเงิน (finite and financial reinsurance) ต้องมีลักษณะของการโอนความเสี่ยงที่มีขอบเขตจำกัด จากบริษัทประกันภัยไปยังบริษัทประกันภัยต่อ
4. การประเมินภาระหนี้สินของการประกันภัย
International Accounting Standards Board (IASB) ดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลสำหรับสัญญาประกันภัย ระยะที่ 2 โดยพิจารณาการประมาณการกระแสเงินสดที่ไม่บิดเบือน และการประเมินภาระหนี้สินจากการประกันภัย เพื่อประเมินฐานะการเงินที่แท้จริงของบริษัทประกันภัย และใช้เป็นพื้นฐานสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในการกำหนดเงินทุนที่ต้องการ
5. การควบคุมและแนวทางการปฏิบัติในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
ปัญหาที่หน่วยงานกำกับดูแลประสบอยู่ประกอบด้วย การขาดเครื่องมือในการกำกับดูแล การขาดอำนาจบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และการขาดการพัฒนาระบบตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ
6. ธุรกิจประกันภัยในระดับสากล
ความร่วมมือขององค์กรและหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในระดับภูมิภาคและระดับโลกมีส่วนส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานกลางในด้านความมั่นคงทางการเงิน การบัญชี การประเมินค่าทรัพย์สิน/หนี้สิน สัญญาประกันภัย แนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ และการคุ้มครองผู้บริโภค
7. การคุ้มครองความเสียหายจากมหันตภัยที่เกิดจากธรรมชาติและที่เกิดจากมนุษย์
มหันตภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติในปี 2548 อาจทำให้เกิดการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา การแบ่งปันความเสี่ยงระหว่างผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย อุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศ อุตสาหกรรมประกันภัยต่อของโลก ตลาดทุน และรัฐบาล ทำให้ความเสียหายจากมหันตภัยสามารถได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย
8. การสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่มีประสิทธิภาพในตลาดเกิดใหม่
ตลาดประกันภัยเกิดใหม่ (emerging market) มีโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่มีประสิทธิภาพ เช่น ตลาดทุนมีขนาดเล็ก โครงสร้างพื้นฐานของตลาดมีการพัฒนาน้อย การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ และองค์กรของผู้บริโภคไม่ได้รับการพัฒนา บริษัทประกันภัยมีขนาดเล็กและขาดความมั่นคงทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาลไม่มีความชัดเจน เป็นต้น หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพของคณะกรรมการและผู้บริหาร การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิชาชีพ ตรวจสอบคุณภาพของเงินกองทุนและเงินสำรองทางเทคนิค
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้จัดการประชุมประจำปี ครั้งที่ 13 ของ IAIS ในเดือนตุลาคม 2549 ณ กรุงเป่ย์จิง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่มา: http://www.doi.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ