ส.เครื่องนุ่งห่มหวั่นดับเบิลสแตนดาร์ด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2006 14:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย นายเธียรชัย มหาศิริ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ สถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยปี 2549 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยไทยอยู่ระหว่างการเจรจาและจะมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-สหรัฐฯ และ ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้า ทั้งนี้ทั้งสองประเทศข้างต้นต้องการใช้กฎ     แหล่งกำเนิดสินค้าที่ต้องระบุถึงวัตถุดิบจากแหล่งกำเนิดในประเทศ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้านการผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ข้อแตกต่างของการเจรจาเอฟทีเอระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น และไทย-สหรัฐฯ คือ
- ญี่ปุ่นมีโรงงานทอผ้าเป็นจำนวนมาก จึงต้องการให้ประเทศคู่เจรจาใช้ผ้าที่ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นด้วย
- สหรัฐฯ ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ยังคงมีอยู่ในบางรัฐ แม้โดยภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ เริ่มถดถอยลงทุกขณะ ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงต้องการสร้างข้อจำกัดในการลดภาษีสินค้าสิ่งทอ
ดังนั้นเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าที่ขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้สมาคมฯ ได้เตรียมจัดงาน 3 งานใหญ่ ได้แก่ Garment Sourcing Fair / Garment Outlet Fair และ Fashion Brand Network ระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2549 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นเวทีการค้าแห่งใหม่ กระตุ้นผู้ซื้อและผู้ขายในอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางธุรกิจรองรับการแข่งขันเสรีจากเอฟทีเอ
ประเด็นวิเคราะห์
ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิต การบริหารจัดการ และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องพัฒนารูปแบบให้ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยอาจถูกแซงหน้าโดยประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ซึ่งขณะนี้มีอัตราการขยายตัวการส่งออกสูง นอกจากนี้ภาครัฐบาลจะต้องตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดในการเจรจา หากไม่คุ้มทุนก็มิควรเซ็นสัญญาข้อตกลงใดใด
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ