สมคิดสั่งพาณิชย์เปิดเกมรุกสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 8, 2006 14:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

         เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานในการประชุมหารือผู้บริหารระดับสูงของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมส่งเสริมการส่งออก  เพื่อกำหนดเส้นทางการเดินทางสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รายงานแผนงานการประชุมระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549  และนายสมคิด ได้มอบนโยบายในเรื่องสำคัญๆ คือ
การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ หลังการเจรจา WTO รอบโดฮาล่ม และคงใช้เวลานานกว่าการเจรจาจะกลับเข้าที่เข้าทาง ในช่วงเวลานี้ ประเทศต่างๆ จะมีการเจรจาทวิภาคีมากขึ้น ไทยก็ควรสานต่อการเจรจาทวิภาคีเช่นกัน แต่มิใช่เน้นการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ควรเป็นการเจรจาเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ และมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมกำหนดเส้นทางเดินทาง สำหรับการเจรจาทวิภาคี เพื่อสร้างพันธมิตรดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมนำนักธุรกิจ SMEs ของไทย ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อพบและทำความรู้จักนักธุรกิจที่มีบทบาททางการค้าในแต่ละประเทศที่ไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ได้ให้นโยบายในแต่ละภูมิภาคว่า สหภาพยุโรปควรเน้นฝรั่งเศส (ซึ่งจะเป็น Gateway เข้าสู่แอฟริกาใต้) อิตาลี เยอรมัน และอังกฤษ เอเชียควรเน้นญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ส่วนตะวันออกกลาง เน้นคูเวต และอาเซียนควรเน้นเวียดนาม พม่า และลาว
เนื่องจากในวันที่ 17-20 กันยายน 2549 กรมส่งเสริมการส่งออก จะเป็นแม่งานจัดงานฉลองความสัมพันธ์ 320 ปี ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแผนการประชุมหารือกับฝรั่งเศส ในกรอบความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนไทย-ฝรั่งเศส รวมทั้ง จะมีการลงนามในความร่วมมือกับฝรั่งเศสในด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น การฝึกอบรม SMEs เป็นต้น นายสมคิด จึงขอให้กำหนดเส้นทางการเดินทางไปฝรั่งเศสก่อนเป็นอันดับแรก และขอให้จัดเส้นทางเดินทางต่อไปถึงอิตาลีด้วย โดยที่อิตาลีขอให้เน้น cluster สินค้าอาหาร แฟชั่น และยานยนต์ ทั้งนี้ ขอให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน คัดเลือกทีมนักธุรกิจ SMEs ประมาณ 60 ราย ร่วมเดินทางไปด้วย โดยเน้นกลุ่มเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์
ส่วนอินเดีย ซึ่งมีบทบาทต่อการค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสาขา science technology เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรจัดเส้นทางให้นักธุรกิจไทยได้พบกับนักธุรกิจรายสำคัญของอินเดีย ทั้งนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนดแผนเดินทางไว้ประมาณปลายเดือนกันยายน หรือต้นตุลาคม ศกนี้
ส่วนเรื่อง การประชุมทวิภาคีไทย-สิงคโปร์ STEER (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship) ซึ่งสิงคโปร์เสนอให้มีการประชุมครั้งที่ 3 นั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้นโยบายว่าขอให้ยืดเวลาออกไปก่อนยังไม่จำเป็นต้องมีการประชุมในช่วงเวลานี้
เรื่อง การเจรจาทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) ควรมีการเตรียมการก่อนลงนามในความตกลง JTEPA เพื่อสานต่อเรื่องความร่วมมือที่ไทยจะได้รับจากญี่ปุ่นในเรื่องต่างๆ ด้วย เช่น ครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น มิใช่เพียงลงนามในความตกลงอย่างเดียว ควรจัดคณะเดินทางไปหารือกับญี่ปุ่น 1 ครั้ง ก่อนลงนาม และควรไปก่อนการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมนี้
ในส่วนของ การเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity Building) ให้ภาคเอกชนไทย ขอให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคเอกชน เพื่ออบรมให้ความรู้นักธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อย่างจริงจัง ในเรื่องการเจรจาภายใต้กรอบ WTO FTA ASEAN เพื่อเวลาไปต่างประเทศพบปะนักธุรกิจต่างประเทศ จะได้มองเห็นโอกาสการเข้าสู่ตลาดได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ