เหลียวหลังค่าเงินปีจอ รับมือบาทแข็งต่อปีกุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 27, 2006 10:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เหลียวหลัง 1 ปีค่าเงินบาท 
นับแต่วันแรกของการเปิดตลาดเงินของปี 2549 (2 มค.2549) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถัดมา 1 สัปดาห์มีเงินไหลเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 55,000 ล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าแตะระดับ 39.49 บาทต่อดอลลาร์ ต่อมาสิ้นเดือนมกราคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตรวจพบการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทของสถาบันการเงินต่างประเทศบางแห่ง เป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าอีกครั้ง แตะระดับ 38.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ต่อมา 10 เมษายน 2549 ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 ปี แตะระดับ 37.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ระยะ 14 วัน และในช่วงเดือนตุลาคม 2549 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นสูงสุดอีกครั้งแตะระดับ 37.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาคและจากนั้น ได้แข็งค่าที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนเดียวกัน หรือเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นถึง 10-11% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐต้นปี 2549
การไหลเข้าของเงินดอลลาร์ระลอกสุดท้ายที่ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2549 แม้ธปท.จะออกมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ไม่เป็นผล ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปถึง 35.08 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เป็นการส่งสัญญานชัดเจนว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และ “ภาคส่งออก” คือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดจากสถานการณ์นี้
ไตรมาส 2 ปีหน้าบาทกลับมาแข็งต่อ
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี 2549 จะเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนค่าลง (ดูความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากกราฟประกอบ) เพราะผลของมาตรการ 18 ธันวาคม 2549 หรือมาตรการดำรงเงินสำรองเงินต่างประเทศ 30% ซึ่งหลังออกมาตรการไม่ถึง 1 สัปดาห์ ธปท.และกระทรวงการคลัง ประเมินผลสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ผล
นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในตลาดเงินหลายท่าน ให้ความเห็นตรงกันว่า ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะอ่อนค่าแค่ไตรมาสแรกของปี 2550 และจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในช่วงสับสนว่าประเทศไทยจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีหรือไม่ แต่หลังจากนั้นทิศทางของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น โดยหลังจาก 3-4 เดือนแรก ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐเป็นสำคัญ หากสหรัฐประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย โดยยังเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับลดลงได้ในไตรมาสแรกของปี 2550
ธปท.ปฏิรูปกรอบนโยบายการเงิน
ธปท. ในฐานะของผู้กำหนดนโยบายการเงิน ได้เตรียมความพร้อมปรับตัวในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินและนำไปสู่กรอบการดำเนินนโยบายที่โปร่งใส และเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของตลาดนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับกฎเกณฑ์และหลักปฏิบัติในการดำเนินนโยบายการเงิน 3 เรื่อง โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 17 มกราคม 2550 ได้แก่
1. เปลี่ยนเครื่องมือในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) จากการใช้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อพันธบัตรระยะ 14 วัน เป็นระยะ 1 วัน ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสะท้อนการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของสถาบันการเงินในตลาดเงินได้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ย
2. จัดให้มีหน้าต่างปรับสภาพคล่องสิ้นวันระหว่างธปท.กับสถาบันการเงินทั้งด้านปล่อยและดูดซับสภาพคล่อง โดยให้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย+/- ร้อยละ 0.5 การมีหน้าต่างปรับสภาพคล่องทั้งสองด้านและในขอบเขตที่แคบลง จะช่วยจำกัดความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ปรับช่วงเวลาในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อไม่ให้คร่อมการประชุม กนง.สำหรับสถาบันการเงินทุกประเภท ที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสถานการณ์ของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐตลอดทั้งปี 2549 ชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่มีมากขึ้น
ประเด็นวิเคราะห์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 60% ของจีดีพี ย่อมสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการรักษาความสามารถในการแข่งขันของค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเด็นค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียว ดังนั้น ผู้ส่งออกของไทยควรสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าส่งออกให้มากขึ้น รวมทั้งปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการลงทุนและการบริโภคในประเทศ และการทยอยลดการพึ่งพิงการส่งออกลง
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ