คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมเอเซีย-แปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสแคป)ชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงได้ โดยมีสาเหตุมาจากภายนอกภูมิภาค และได้แนะนำ 4 แนวทางแก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. การสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นฐานของเศรษบกิจมหภาค เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
2. แต่ละประเทศต้องพัฒนาภาคการเงินให้แข็งแกร่ง โดยสร้างความมั่นใจและใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายของทุนให้มีประสิทธิภาพ
3. ต้องมีการจัดตั้งเศราฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นจากการให้ความชัดเจนในเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน การสร้างระบบบกฎหมายที่เข้มแข็ง และการปล่อยให้ภาคธุรกิจและสถาบันต่างๆ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
4. การพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาค เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระจากผลกระทบ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดทางการเงิน
ประเด็นวิเคราะห์
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 จนถึงปัจจุบันราคาหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นในเอเซีย-แปซิฟิกตกลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาทองคำมีความผันผวน ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานกาณ์ในตะวันออกกลางและผลกระทบจากราคาน้ำมัน และนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้สูงขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งนโยบายดังกล่าวของเฟดส่งผลในแง่ลบต่อธุรกิจส่งออกของบริษัทต่างๆ ในเอเซีย นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น มีอัตราสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียคลายตัวลงทั้งสิ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th