บทวิเคราะห์ เรื่อง การบริหารและติดตามเงินเฟ้อ (Inflation Management Chart)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 4, 2006 08:13 —กระทรวงการคลัง

          นายสุธี เหลืองอร่ามกุล 
"การบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ"
บทวิเคราะห์
เรื่อง การบริหารและติดตามเงินเฟ้อ (Inflation Management Chart)
1. วัตถุประสงค์ของการจัดทำระบบบริหารและติดตามเงินเฟ้อ
ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยของปี 2549
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยจะ
อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี (ช่วงการคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4.5-5.5 ต่อปี) ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลใกล้
เคียงกับปีก่อนที่ประมาณร้อยละ -2.1 ของ GDP (ช่วงการคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ (-2.5)-(-1.5) ของ GDP)
แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงการคาดการณ์
อยู่ที่ร้อยละ 2.75-3.25)
เงินเฟ้อจัดเป็นดัชนีชี้ด้านเสถียรภาพภายในประเทศที่สำคัญ หากตัวเลขเงินเฟ้อจริงแตกต่างจาก
ตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ซึ่งได้จากแบบจำลองอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นการส่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ
จากที่ประเมินไว้ ซึ่งจำเป็นต้องหานโยบายเพื่อบริหารจัดการต่อไป ดังนั้น สศค.ในฐานะเป็นผู้เสนอแนะนโยบาย
เศรษฐกิจ จึงจำเป็นจะต้องมีระบบเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อรายเดือน เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุด
ว่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าเงินเฟ้อที่ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นที่มาของระบบบริหารและติดตามเงินเฟ้อ (Inflation
management chart)
2. กรอบการวิเคราะห์
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อธิบายสาเหตุการเพิ่มขึ้นของระดับราคา หรือเงินเฟ้อเป็นผลมาจาก 2 สาเหตุ
สำคัญ ได้แก่
1. เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากความต้องการสูงขึ้น (Demand pull inflation)
2. เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost push inflation)
สำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพบว่าสัดส่วนของการค้าต่างประเทศ โดยขนาดของการส่งออกและ
นำเข้ามีสัดส่วนเท่ากับ 1.3 เท่าของขนาด GDP จึงสามารถจัดได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีลักษณะเศรษฐกิจแบบเปิด
(Small opened economy) แต่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกมีสัดส่วนที่เล็กทำให้ไม่มีอิทธิพลต่อ
เศรษฐกิจโลกมากนัก ในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกกลับมากดดันเศรษฐกิจไทย ดังนั้นถ้าหาก
อุปสงค์ในประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้น การที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบเปิด จะทำให้แรงกดดันผ่านราคา
สินค้านำเข้ากดดันต่อราคาสินค้าในประเทศ และทำให้แรงกดดันของอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อ (Demand pull
inflation) จึงมีน้อยสำหรับประเทศไทย
สำหรับกลไกการส่งผ่านและกำหนดระดับราคาของไทย พบว่าในอดีตที่ผ่านมาปัจจัยที่สำคัญที่มา
กำหนดอัตราเงินเฟ้อของไทยส่วนใหญ่มาจากด้านต้นทุนการผลิตทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ตัวอย่างเช่น
ในด้านปัจจัยภายนอกจะได้รับผลกระทบผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์
(Commodities) ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก หรือธัญพืชเพิ่มขึ้น จะผลักดันให้สินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามสินค้า
ในตลาดโลก ดังนั้น กลไกการส่งผ่านระดับราคาของไทย จึงมีลักษณะเป็นผู้รับด้านราคา (Price Taker)
และขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อโลกผ่านราคาสินค้านำเข้า สำหรับในด้านปัจจัยภายใน เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำและราคาสินค้า
เกษตรภายในประเทศ ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มได้เช่นกัน
ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าภายในประเทศนั้น พบว่ามาจากอิทธิพล 2 ด้าน ทั้งจากภายนอก
ประเทศ (External Side) และจากภายในประเทศ (Domestic Side) คือ
ปัจจัยภายนอกประเทศ
ผลกระทบมาจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคา
น้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจากน้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิตที่สำคัญ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและ
ผลักดันให้ราคาสินค้าโลก (World Inflation) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การส่งผ่านถึงเงินเฟ้อของไทย จะส่งผ่าน
ราคาสินค้านำเข้าของไทยที่จะปรับตามราคาสินค้าในตลาดโลก
ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ราคา
สินค้านำเข้าที่เป็นเงินสกุลบาทถูกลง ทำให้ราคาสินค้าภายในประเทศถูกลงตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม
การอ่อนค่าลงของเงินบาทจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เงินเฟ้อ
สูงขึ้น
ปัจจัยภายในประเทศ
ผลกระทบของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศทั้งดีเซลและเบนซิน
ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบโลก อัตราแลกเปลี่ยน ค่าการกลั่นและการตลาด ซึ่งปัจจัยสูงขึ้นก็จะผลักดันให้ราคาขาย
ปลีกน้ำมันในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ท้ายที่สุดจะผลักดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันจัดเป็นปัจจัยการ
ผลิตที่สำคัญโดยเฉพาะภาคการขนส่ง
ผลกระทบของค่าจ้าง การเพิ่มค่าจ้างงานแรงงานจะดึงให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะใน
กลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานสูง
ผลกระทบของราคาสินค้าเกษตร หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 36 ของดัชนี
ราคาผู้บริโภค ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรจะกดดันให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสูงขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรง
กับผู้บริโภคและเงินเฟ้อ
ระบบบริหารและติดตามเงินเฟ้อรายเดือน (Inflation Control Chart)
ในปี 2549 สศค. ประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี (ช่วงการประมาณการอยู่
ร้อยละ 2.75-3.25) ลดลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปีในปี 2548 ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะ
แข็งค่าขึ้นจาก 40.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 39.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบ Dubai ที่เพิ่มสูง
ขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนเฉลี่ย 48.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 58.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 49 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 5 (ช่วงประมาณการที่ร้อยละ 4.5-5.5) เป็นต้น
ตารางที่ 1 สมมติฐานที่สำคัญ
ตัวแปรภายนอก หน่วย ปี 47 ปี 48 ปี 49
1. ราคาน้ำมันดิบ Dubai USD/Barrel 33.7 48.7 58.4
อัตราการเปลี่ยนแปลง %yoy 25.7 44.5 19.9
3. อัตราแลกเปลี่ยน THB/USD 40.3 40.3 39.6
4. ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ %yoy 12.2 10.1 4.2
4. ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ %yoy 13.3 16.1 5
5. ค่าจ้างงานแรงงานขั้นต่ำ บาท/วัน 170 178 184
ข้อมูล : รายงานประมาณการเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2549
ระบบการบริหารและติดตามเงินเฟ้อรายเดือนที่ใช้ในการเปรียบเทียบกับข้อมูลจริงเพื่อประเมิน
ภาวะเงินเฟ้อรายเดือนได้มีการพัฒนาจาก 2 ระบบ ได้แก่
1.1 Top — Down Approach ซึ่งเป็นการประมาณการเงินเฟ้อรายเดือนโดย
อาศัยข้อมูลสมมติฐานที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้ได้กล่าวมาแล้ว เช่น ราคาน้ำมันดิบ ค่าจ้าง
แรงงาน ราคาสินค้านำเข้า ราคาสินค้าเกษตร และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ผ่าน Inflation Model ซึ่ง
มีจุดเด่นในการสะท้อนการส่งผ่านจากปัจจัยด้านมหภาคสู่ระดับราคาสินค้าได้ดี
1.2 Bottom — Up Approach ซึ่งเป็นการประมาณการเงินเฟ้อ โดยใช้การ
ประมาณการองค์ประกอบของดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ในรายหมวดที่สำคัญ ภายใต้สมมติฐานจากแบบ
จำลองเศรษฐกิจมหภาค และปัจจัยด้านฤดูกาล ซึ่งมีจุดเด่นในการวิเคราะห์ผลกระทบในระดับจุลภาคได้ดี
โดยผลที่ได้จาก 2 ระบบจะมีความสอดคล้องกัน และสามารถสะท้อนภาพทั้งปัจจัยระดับมหภาคและ
ระดับจุลภาค ในระบบการบริหารและติดตามเงินเฟ้อรายเดือน ทั้งด้าน Top-down และ Bottom-up

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ