ครึ่งทางของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 10, 2006 10:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

         อาเซียนรวมตัวไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภายในปี พ.ศ. 2563 ตามแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนฉบับ Bali Concord II เมื่อปี พ.ศ. 2546 
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การถึงความคืบหน้าของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายสุดท้ายไว้ที่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) จะเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม (single market and single production base) โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ได้ตกลงใช้แนวทางการรวมกลุ่มแบบรายสาขา (sector-based approach) เป็นกลไกนำร่องไปสู่ AEC โดยการคัดเลือกสินค้าและบริการ 11 สาขา สำคัญ ได้แก่ สาขาเกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ การท่องเที่ยว และการบิน มาเร่งรัดดำเนินการรวมกลุ่ม โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) และล่าสุดรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้คัดเลือกสาขาโลจิสติกส์เป็นสาขาสำคัญอันดับที่ 12 ที่จะเร่งรัดดำเนินการ
การเปิดเสรีการค้าสินค้า มาตรการสำคัญที่นำมาใช้ ได้แก่
1) การเร่งลดภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าใน 9 สาขาสำคัญ ให้เร็วกว่ากรอบอาฟต้า หรือเขตการค้าเสรีอาเซียน 3 ปี โดยประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (บรูไนฯ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย) มีกำหนดจะลดภาษีสินค้าในสาขาดังกล่าวเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ส่วน สปป.ลาว กัมพูชา สหภาพพม่า และเวียดนาม จะต้องลดอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ล่าสุด อาเซียนได้จัดทำแผนงานการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญในระยะที่ 2 เสร็จแล้ว โดยเป็นการทบทวน/แก้ไข/เพิ่มเติมกิจกรรม เพื่อให้แผนงานเดิมมีความเข้มข้นมากขึ้น และปรับปรุงกรอบระยะเวลาดำเนินงาน รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มีความเหมาะสม โดยจะนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (ฉบับแก้ไข) และพิธีสารการรวมกลุ่มรายสาขา (ฉบับแก้ไข) เพื่อรองรับแผนงานระยะที่ 2 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 10-13 ธันวาคม 2549 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ยกเว้นสาขาการบิน ซึ่งจะดำเนินการตามแผนงานระยะที่ 1 ให้เสร็จสิ้นก่อน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะนำเสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียนพิจารณาให้ความเห็นชอบการเร่งรัดการจัดตั้ง AEC จากเดิมปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เพื่อให้การรวมกลุ่มของอาเซียนมีความหมายท่ามกลาง FTA ต่างๆที่อาเซียนจัดทำกับประเทศคู่เจรจา
2) การยกเลิกมาตการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ตามแผนงานซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนแล้ว โดยประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 5 ประเทศ (บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) มีกำหนดเวลาดำเนินการภายในวันที่ 1 มกราคม 2553 (ค.ศ.2010) โดยจะทยอยดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ปี 2008/2009/2010
3) การลดอุปสรรคจากกฎระเบียบทางเทคนิค (Technical Regulations) หรือ มาตรฐานบังคับ (Mandatory Standards) โดยจัดทำความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ซึ่งขณะนี้ อาเซียนได้ดำเนินการเสร็จไปแล้วสำหรับสาขาบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาเครื่องสำอาง และอยู่ระหว่างดำเนินการสำหรับสาขาเภสัชกรรม
4) การนำระบบการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) มาใช้ โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ จัดตั้ง National Single Window ให้แล้วเสร็จ ภายในปี ค.ศ. 2008 และประเทศสมาชิก CLMV ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในปี ค.ศ. 2012 เพื่อเชื่อมต่อเป็น ASEAN Single Window ต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของไทยจะดำเนินโครงการนำร่องร่วมกับฟิลิปปินส์ โดยในเบื้องต้นจะเริ่มใช้กับการรับส่งข้อมูลใบขนสินค้าขาออกและ FORM D ระหว่างกัน ซึ่งตามแผนงานได้เริ่มโครงการนำร่องแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
การเปิดเสรีการค้าบริการ
1) อาเซียนจะลดอุปสรรคข้อกีดกันการค้าบริการสาขาต่างๆในทุกรูปแบบของการค้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประกอบกิจการ การอนุญาตให้เข้ามาทำงานของบุคลากร รวมทั้งการให้บริการข้ามพรมแดนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบเป้าหมายการลดข้อกีดกันบางประการไว้แล้ว คือ จะทยอยเปิดให้นักลงทุนอาเซียนประกอบธุรกิจด้านบริการ โดยถือหุ้นได้ร้อยละ 70 ภายในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) สำหรับสาขาบริการที่เร่งรัดการรวมกลุ่ม (ท่องเที่ยว การบิน สุขภาพ บริการคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม) และภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) สำหรับบริการสาขาอื่นๆที่เหลือทุกสาขา ทั้งนี้ อาจยกเว้นรายการธุรกิจบริการที่อ่อนไหว และคงเงื่อนไข/ข้อจำกัดที่จำเป็นไว้ได้บ้าง (ทั้งนี้ รายละเอียดแผนการเปิดตลาดจะต้องเจรจากันต่อไป)
2) สำหรับการดำเนินการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดด้านบริการ ได้ทยอยเปิดตลาดมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นรอบๆ ละ 2 ปี ล่าสุด อาเซียนจะลงนามข้อผูกพันการเปิดตลาดรอบที่ 4 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนธันวาคม 2549 ทั้งนี้ ข้อผูกพันการเปิดตลาดบริการของไทยยังเป็นการเปิดเท่าที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาตไว้
3) อาเซียนโดยองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติทางวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement: MRA) ในสาขาวิชาชีพหลักๆเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ล่าสุดอาเซียนได้จัดทำ MRA สาขาวิชาชีพการพยาบาลเสร็จแล้ว พร้อมนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 ในปลายปีนี้เช่นกัน
ในส่วนของการลงทุน อาเซียนอยู่ระหว่างดำเนินการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนสัญชาติอาเซียนให้ลงทุนภายในอาเซียนมากขึ้น และการแบ่งสรรการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ จะมีการยกร่างกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) โดยจะตั้งคณะทำงานระดับสูงขึ้นมายกร่างกฎบัตรอาเซียน และจะดำเนินในปี พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอาเซียน เนื่องจากเป็นการกำหนดกรอบด้านกฎหมายและสถาบันของอาเซียน ที่จะรองรับการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 พิจารณาในปลายปีหน้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ