การประชุม “แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าไทย-สปป.ลาว” ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 27, 2006 14:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายเกริกไกร  จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าไทย-ลาว ครั้งที่ 1  ระหว่างวันที่ 27 - 28  ธันวาคม   2549   ณ กรุงเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยก่อนหน้านี้จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 25-26 ธันวาคม 249  โดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และนายแพงสะหงวน จุนละมะนี หัวหน้าห้องการค้ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า  เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายลาว
การประชุมดังกล่าวนับเป็นความคิดริเริ่มของทั้งสองฝ่ายที่จะให้มีการประชุมทวิภาคีด้านการค้า เพื่อให้เป็นกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะพันธมิตรที่ใกล้ชิด หลังจากที่ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ลาว ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2541 หรือกว่า 8 ปีมาแล้ว
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมครั้งนี้ คือ
- แสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าสาขาใหม่ๆ ที่มีความเป็นไปได้ โดยจัดทำแผนความร่วมมือในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
- จัดตั้งเวทีพบปะหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนในระดับต่างๆ เพื่อดำเนินงานและสนับสนุนแผนงานความร่วมมือให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนาม วิยะเกด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าลาว ได้เป็นประธานร่วมและร่วมมอบนโยบายเกี่ยวกับแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าไทย-สปป.ลาว รวมทั้งให้ความเห็นชอบและเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกผลการประชุมครั้งนี้ โดยหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสองฝ่าย
สาระที่คาดว่าจะมีการหารือกันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
- การเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุน
- การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ได้แก่ การร่วมกันพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้า การใช้ประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 ระหว่างจังหวัดมุกดาหารของไทยกับแขวงสะหวันนะเขตของลาว การจัดตั้งจุด Single Stop Inspection เป็นต้น
- ความร่วมมือภายใต้กรอบ ASEAN เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไทยเสนอให้พิจารณาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเป็นสาขาเริ่มแรก โดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง การลดขั้นตอนเอกสารและพิธีการข้ามแดน เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สาม
- ความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS โดยเฉพาะ contract farming ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนทั้งสองฝ่าย
- สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้กรอบอาเซียน หรือ AISP (ASEAN Integration System of Preferences)
- ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ได้นำภาคเอกชนไปหารือจับคู่ทางธุรกิจ และมีการลงนาม MOU ระหว่างกัน
ทั้งนี้ สองฝ่ายได้เห็นพ้องว่าจะมีการประชุมหารือด้านการค้าทวิภาคีในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ