รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน มิ.ย. 49

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2006 16:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มิถุนายน 2549
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 โดยสรุปจากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2549
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 139.2
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2549 ลดลงร้อยละ 0.1
2.2 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 10.7
2.3 เฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2549) เทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 9.6
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 โดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นครั้งแรกในช่วง 6 เดือน ทั้งนี้ จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 3.3 ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.1 และ 0.4 ตามลำดับ
การลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิตดังกล่าว เป็นผลจากการลดลงของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรมเป็นสำคัญ จากความต้องการบริโภคที่ลดลงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กล่าวคือ สุกรมีชีวิต การค้าค่อนข้างซบเซาจากราคาที่อยู่ในระดับสูงกว่าอาหารโปรตีนชนิดอื่น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าอื่นแทน สำหรับไก่มีชีวิต การส่งออกชะลอลง จากประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะญี่ปุ่น มีสต๊อกคงเหลือมาก นอกจากนี้ยังเป็นช่วงฤดูกาลของสินค้าเกษตรหลายชนิดทั้งผลไม้และผัก เช่น เงาะ ทุเรียน สับปะรด ผักคะน้า ถั่วฝักยาว โดยเฉพาะมะนาวราคาลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ลดลง คือ ร้อยละ 10.7 (เดือนพฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 11.6) มีผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 22.6, 29.0 และ 8.2 ตามลำดับ จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ ยางพารา ข้าวเปลือก แร่สังกะสี น้ำมันเชื้อเพลิง และทองคำ
5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ในระยะ 6 เดือนแรก ของปี 2549 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 9.6 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 21.7, 25.3 และ 7.0 ตามลำดับ
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 21.7 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ยางพารา และข้าวเปลือก เป็นสำคัญ
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 25.3 จากการสูงขึ้นของราคา น้ำมันดิบ และแร่ เป็นสำคัญ
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.0 จากการสูงขึ้นของราคา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยาง และทองคำ เป็นสำคัญ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ