ธนาคารโลกผุด “ไอเดีย” ท้าทายเอเชียตะวันออกยุค “เรอเนซองส์”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 16, 2006 13:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ธนาคารโลกได้เสนอบทวิเคราะห์เรื่อง “ตีแผ่ยุคเรอเนซองส์ในเอเชียตะวันออกกับไอเดียเติบโตทางเศรษฐกิจ” หรือ “An East Asian Renaissance : Ideas for Economic Growth” เนื่องด้วยความวิตกว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาจสูญเสียการเจริญเติบโตอย่างที่ละติน อเมริกาเคยประสบมาตลอดทศวรรษที่แล้ว ระหว่างปี 2540-2541 วิกฤติการเงินทำให้เศรษฐกิจ 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกต้องประสบปัญหาทรุดหนักเหมือนคนตกอยู่ในอาการ “เข่าอ่อน” มาแล้ว แต่หลังเกิดวิกฤติปี 2541 ได้ขยายตัวได้สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ต่อปี
ดัชนีชี้วัดผลประกอบการของกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น การส่งออกขยายตัวถึง 1 ใน 5 ของการส่งออกทั่วโลก หรือปีละกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เอเชียตะวันออกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการค้าเปิดกว้างมากที่สุดในโลก และเป็นเป้าหมายปลายทางสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์
ธนาคารโลกชี้ว่า “ก้าวย่างไปข้างหน้าแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเงินและการค้าเทคโนโลยีการพัฒนาเมือง การเงินภาคครัวเรือน และความต้องการของภาคประชาชน ล้วนเป็นสิ่งที่น่าทึ่งหากเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มขยายต้วเช่นปัจจุบันภายใน 2570 ภูมิภาคนี้จะมีขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 43 ของเศรษฐกิจโลก
“จุดเปลี่ยน” เศรษฐกิจวงกว้างในปี 2549 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกค่อนข้างแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2533 ภูมิภาคนี้มีความั่งคั่งมากกว่าในอดีต ดังนั้นขนาดของตลาดเอเชียตะวันออกจึงใหญ่ขึ้น ขณะที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจในด้านการผลิต การค้า และการเงิน กำลังเคลื่อนย้ายไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับจีนแทน
ประเด็นวิเคราะห์:
จากกระแสโลกาภิวัฒน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ โดยการนำกระบวนการใช้ตลาดเป็นตัวผลักดันจึงเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งด้านการผลิต การเงิน การค้าในเอเชียตะวันออกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการรวมตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกับโลกอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ