นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน คณะทำงานด้านการเกษตรสหกรณ์-อาหาร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวถึงสถานการณ์ผลผลิตข้าวของโลกว่ามีผลผลิตรวมอยู่ที่ 411 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ผลผลิตที่ 402 ล้านตัน โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของราคาข้าวในตลาดโลกในปีนี้จะไม่สูงมากนัก แต่สำหรับการบริโภคข้าวมีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากเดิม 414 ล้านตันมาอยู่ที่ 418 ล้านตัน ทั้งนี้การบริโภคข้าวทั่วโลกยังมีปริมาณมากกว่าผลผลิตโดยได้คาดว่าการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้น 5 ล้านตันเป็น 423.2 ล้านตันซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณข้าวที่สำรองไว้ลดลง 6.1 ล้านตัน เหลือ 62 ล้านตันโดยปริมาณสำรองข้าวส่วนใหญ่อยู่ในจีน
ในส่วนของไทยมีปริมาณข้าวส่งออกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 1 ล้านตันส่วนปริมาณสำรองข้าวในสต๊อกมีเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 ล้านตัน สำหรับความต้องการการนำเข้าข้าวในแอฟริกาและละตินอเมริกาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะความต้องการของอิหร่านในปี 2550 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้านี้ สำหรับฟิลิปปินส์จะยังเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าจะถอดตัวออกจากตลาดข้าวเพราะยังคงดำเนินมาตรการห้ามนำเข้าข้าว สำหรับบราซิลนำเข้าข้าวลดลง 200,000 ตัน เหลือ 550,000 ตันเนื่องจากนำเข้าข้าวจากอาร์เจนตินาและอุรุกวัยลดลง ส่วนไนจีเรียคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น 200,000 ตันเนื่องจากมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น
สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้คาดว่าจะมีการส่งออกข้าว 7.3 ล้านตันในขณะที่ปีก่อนส่งออกประมาณ 7.2 ล้านตัน โดยผลผลิตข้าวของไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตันจากปีก่อนอยู่ที่ 17.3 ล้านตัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกข้าวได้น้อยลงมาจากนโยบายการแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาลที่มีมากตามเป้าหมายถึง 9 ล้านตันแต่การแทรกแซงจริงมีมากกว่า นอกจากนี้ราคาที่แทรกแซงยังสูงกว่าความเป็นจริง ราคาข้าวของไทยจึงยังสูงกว่าคู่แข่งมากสำหรับข้าวชนิดเดียวกันโดยเฉพาะกับเวียดนามโดยสูงกว่าตันละ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่หันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามโดยเฉพาะข้าวคุณภาพต่ำ
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ ได้กล่าวถึงความต้องการข้าวของตลาดโลกในช่วงที่ตลาดต้องการเป็นช่วงที่เวียดนามส่งออกข้าวไม่ได้โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ผู้ซื้ออยากจะซื้อข้าวไทยแต่ก็มีปัญหาเพราะผู้ส่งออกข้าวไม่มีข้าวที่จะส่งมอบให้ได้เพราะข้าวอยู่ในสต๊อกของรัฐบาลตามโครงการแทรกแซง สำหรับประเด็นที่น่าวิตกว่าเวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งของไทยนั้น คือ เวียดนามกำลังเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวและคาดว่าภายใน 5 ปี เวียดนามจะมีพันธุ์ข้าวที่ดีออกมาอีกมากและเมื่อถึงเวลานั้นจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน สำหรับคู่แข่งที่น่าจับตามองมากกว่าเวียดนามได้แก่พม่า เพราะเมื่อก่อนพม่าเคยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 และเมื่อพม่าเปิดประเทศเมื่อใดก็จะเป็นเรื่องที่
น่าจับตามองอีกประเทศหนึ่งโดยในขณะนี้พม่าได้ส่งออกข้าวตามแนวชายแดนอยู่แล้วประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนที่สำคัญคือพื้นที่การเพราะปลูกข้าวของพม่ามีใกล้เคียงกับไทยและมีพื้นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะปลูกข้าวอย่างมากโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งความหอมของข้าวหอมกว่าไทยเนื่องจากพม่าใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่าไทย 10 เท่า
ประเด็นวิเคราะห์:
การผลิตและการบริโภคข้าวของโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 15 ล้านตันแต่ราคาข้าวในตลาดโลกกลับไม่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการเนื่องจากผู้นำเข้าหลายประเทศลดการนำเข้าลงและวางมาตรการคุมเข้มการนำเข้า ไทยควรเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาแข่งขันกับเวียดนามอีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีโรงสีให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น หากไทยไม่สามารถพัฒนาปรับปรุงได้ภายใน 5 ปี เวียดนามจะเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่งแทนไทยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามพม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าจับตามองเพราะหากพม่าเปิดประเทศเมื่อใดก็จะเป็นคู่แข่งของไทยอีกประเทศหนึ่งต่อไปในอนาคต
ที่มา: http://www.depthai.go.th