กรุงเทพ--1 ส.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences - PMC) เกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการหารือระหว่างฝ่ายอาเซียนและบรรดาประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ดังนี้
1. ในการหารือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียนั้น ฝ่ายรัสเซียได้แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในเดือนธันวาคม ศกนี้ แต่โดยฝ่ายรัสเซียเพิ่งแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมกรอบการประชุม ดังกล่าว เรื่องนี้จึงจะต้องมีการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนก่อน บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ต่างๆที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียได้ขยายตัวอออกไปอย่างกว้างขวาง จากเดิมซึ่งเน้นประเด็นความมั่นคงเป็นหลัก แต่ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งมีลู่ทางที่ยังสามารถขยายความร่วมมือได้อีกมาก
2. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-รัสเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีโอกาสหารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์สองฝ่ายให้กระชับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการจัดทำความตกลงเรื่องต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ เช่นในด้านการส่งเสริมการลงทุนและการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อน ฝ่ายรัสเซียสนใจที่จะขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นและเห็นด้วยในหลักการที่จะใช้การค้าแบบหักบัญชี (Counter Trade) เป็นวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป อนึ่ง ฝ่ายรัสเซียได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนรัสเซียเพื่อร่วมการประชุมหารือประจำปีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสอง และ ได้ย้ำการเชิญนายกรัฐมนตรีไปเยือนรัสเซียด้วย
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าวว่า ประเด็นสถานการณ์ในพม่า ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระของการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีบางประเทศหยิบยกขึ้นในการหารือภายใต้ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับสถานการณ์ภายในภูมิภาค ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำว่าการตัดสินใจของพม่าที่จะไม่รับตำแหน่งประธานอาเซียนตามวาระ เป็นการตัดสินใจโดยพม่าเอง หลังจากที่ได้หารือกับอาเซียนแล้ว ซึ่งหากพม่าสามารถดำเนินกระบวนการปรองดองแห่งชาติได้เสร็จสิ้น พม่าก็สามารถรับตำแหน่งได้เมื่อพร้อมโดยไม่ต้องรอรอบของพม่าใหม่อีก 10 ปี ซึ่งทั้งไทยและอาเซียนก็จะได้สัญญาณให้พม่าทราบต่อไปเกี่ยวกับความคาดหวังของประชาคมโลกที่ประสงค์จะเห็นความคืบหน้าในกระบวนการปรองดองและการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงด้วยว่า มิได้มีการหารือเกี่ยวกับการที่นายราซาลี อิสมาอิล ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติมีความประสงค์จะเดินทางไปเยือนพม่าอีกครั้ง แต่ก็คงจะมีการหารือในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับบทบาทของสหประชาชาติในเรื่องนี้
4. สำหรับความคืบหน้าในการขอรับการสนับสนุนให้แก่ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาตินั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ฝ่ายรัสเซียสนับสนุนหลักการที่ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติควรจะเป็นวาระของเอเชีย และรัสเซียหวังว่าผู้สมัครของไทยและอาเซียน คือ รองนายกรัฐมนตรี ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จะสามารถเป็นตัวแทนในนามของเอเชียด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัสเซียก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนั้นในการหารือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ไทยก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยแล้ว
5. อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงต่อมาว่า ในการพบปะหารือทวิภาคีกับนายเอียน เพียร์สัน รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศและการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมกับอาเซียนในฐานะตัวแทนของประชาคมยุโรป ฝ่ายไทยก็ได้หยิบยกเรื่องที่ฝ่ายประชาคมยุโรปจะคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับสินค้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงของไทยหลังจากที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ฝ่ายอังกฤษช่วยสนับสนุนให้มีการคืนสิทธิ GSP โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ การหารือยังได้ครอบคลุมประเด็นอื่นๆที่สำคัญ อาทิ การปฏิรูปสหประชาชาติ การจัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์เพื่อดูแลข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ และการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้โครงการ ACMECS เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences - PMC) เกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการหารือระหว่างฝ่ายอาเซียนและบรรดาประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ ดังนี้
1. ในการหารือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียนั้น ฝ่ายรัสเซียได้แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในเดือนธันวาคม ศกนี้ แต่โดยฝ่ายรัสเซียเพิ่งแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมกรอบการประชุม ดังกล่าว เรื่องนี้จึงจะต้องมีการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนก่อน บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ต่างๆที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียได้ขยายตัวอออกไปอย่างกว้างขวาง จากเดิมซึ่งเน้นประเด็นความมั่นคงเป็นหลัก แต่ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งมีลู่ทางที่ยังสามารถขยายความร่วมมือได้อีกมาก
2. เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-รัสเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีโอกาสหารือกับนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์สองฝ่ายให้กระชับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการจัดทำความตกลงเรื่องต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ เช่นในด้านการส่งเสริมการลงทุนและการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อน ฝ่ายรัสเซียสนใจที่จะขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นและเห็นด้วยในหลักการที่จะใช้การค้าแบบหักบัญชี (Counter Trade) เป็นวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป อนึ่ง ฝ่ายรัสเซียได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนรัสเซียเพื่อร่วมการประชุมหารือประจำปีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสอง และ ได้ย้ำการเชิญนายกรัฐมนตรีไปเยือนรัสเซียด้วย
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าวว่า ประเด็นสถานการณ์ในพม่า ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระของการประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) แต่ก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีบางประเทศหยิบยกขึ้นในการหารือภายใต้ระเบียบวาระที่เกี่ยวกับสถานการณ์ภายในภูมิภาค ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำว่าการตัดสินใจของพม่าที่จะไม่รับตำแหน่งประธานอาเซียนตามวาระ เป็นการตัดสินใจโดยพม่าเอง หลังจากที่ได้หารือกับอาเซียนแล้ว ซึ่งหากพม่าสามารถดำเนินกระบวนการปรองดองแห่งชาติได้เสร็จสิ้น พม่าก็สามารถรับตำแหน่งได้เมื่อพร้อมโดยไม่ต้องรอรอบของพม่าใหม่อีก 10 ปี ซึ่งทั้งไทยและอาเซียนก็จะได้สัญญาณให้พม่าทราบต่อไปเกี่ยวกับความคาดหวังของประชาคมโลกที่ประสงค์จะเห็นความคืบหน้าในกระบวนการปรองดองและการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงด้วยว่า มิได้มีการหารือเกี่ยวกับการที่นายราซาลี อิสมาอิล ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติมีความประสงค์จะเดินทางไปเยือนพม่าอีกครั้ง แต่ก็คงจะมีการหารือในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับบทบาทของสหประชาชาติในเรื่องนี้
4. สำหรับความคืบหน้าในการขอรับการสนับสนุนให้แก่ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาตินั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ฝ่ายรัสเซียสนับสนุนหลักการที่ตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติควรจะเป็นวาระของเอเชีย และรัสเซียหวังว่าผู้สมัครของไทยและอาเซียน คือ รองนายกรัฐมนตรี ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย จะสามารถเป็นตัวแทนในนามของเอเชียด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นรัสเซียก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนั้นในการหารือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ไทยก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ด้วยแล้ว
5. อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในช่วงต่อมาว่า ในการพบปะหารือทวิภาคีกับนายเอียน เพียร์สัน รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศและการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมกับอาเซียนในฐานะตัวแทนของประชาคมยุโรป ฝ่ายไทยก็ได้หยิบยกเรื่องที่ฝ่ายประชาคมยุโรปจะคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับสินค้ากุ้งจากประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงของไทยหลังจากที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ฝ่ายอังกฤษช่วยสนับสนุนให้มีการคืนสิทธิ GSP โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ การหารือยังได้ครอบคลุมประเด็นอื่นๆที่สำคัญ อาทิ การปฏิรูปสหประชาชาติ การจัดตั้งคณะผู้สังเกตการณ์เพื่อดูแลข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์ และการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้โครงการ ACMECS เป็นต้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5105 โทรสาร. 643-5106-7 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-