สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม)พ.ศ.2549 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 20, 2006 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          เศรษฐกิจโลก
ตั้งแต่ปลายปี 2548 ที่ผ่านมา จนถึงไตรมาสแรกของปี 2549 แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงลิ่ว และเกิดภัยธรรมชาติหลายครั้งทั่วโลก แต่เศรษฐกิจโลกยังคงรักษาระดับการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี และภาวะเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่สหรัฐฯ สามารถครองตำแหน่งตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญต่อไป แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และอินเดีย กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ กระแสการลงทุนในประเทศที่เริ่มเปิดตลาดการค้าใหม่ ยังสามารถต้านภาวะราคาน้ำมันแพงได้ ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจโลกค่อยๆเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน และมีการปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มมากขึ้น ปัญหาหลักคือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ และคาดว่าผลกระทบของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 จะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ลดลงประมาณร้อยละ 1 ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรป เริ่มมีการฟื้นตัว โดยภาคธุรกิจส่งสัญญานการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนยังคงไม่กระเตื้อง แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งปี คาดว่าเศรษฐกิจ EU จะเติบโตประมาณร้อยละ 2 สำหรับญี่ปุ่น มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับเงินเฟ้อ ราคาที่ดิน และการปล่อยกู้ของธนาคาร ขยับตัวสูงขึ้น การปรับปรุงสถานการณ์ในตลาดแรงงาน มีแนวโน้มจะกระตุ้นการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นกำลังหาทางแก้ไขนโยบายการเงินการคลังที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก และแนวทางรับมือกับการเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยชรา
ทางด้านจีน และอินเดีย เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังคงเติบโตในอัตราสูง โดยจีนควรปรับแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการเน้นพึ่งพาการส่งออก เป็นการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันรัฐบาลจีนกำลังเร่งส่งเสริมการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพและการศึกษา รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในระยะปานกลาง ส่วนอินเดีย ได้เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานฝีมือทางด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ อินเดียจำเป็นต้องเร่งขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นสูง หากต้องการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันจากการได้เปรียบของค่าแรงงานในกลุ่มแรงงานเทคโนโลยี
ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ต่างได้รับประโยชน์จากความสำเร็จของจีน และญี่ปุ่น รวมทั้งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมด้าน IT แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียยังคงเป็นบวก แม้ว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทั้งในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และการเลือกตั้งในสิงคโปร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกยังคงเติบโตอย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีการเติบโตอย่างผิดปกติของหนี้ต่างประเทศ ซึ่ง IMF อาจจะต้องเข้าไปตรวจสอบ
สำหรับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ยังต้องปรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ จากการเน้นหารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ไปยังการลงทุนทั้งทางด้านปัจจัยพื้นฐาน และการพัฒนาสวัสดิการสังคม เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในประเทศ
ในช่วงต้นปี 2549 ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงสูงขึ้นทำสถิติใหม่อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการประกาศยึดอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติในประเทศโบลิเวีย ทำให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต้องประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้เกิดความไม่สมดุลมากเกินไประหว่างดุลการชำระเงินของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยในปัจจุบัน ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลายประเทศ มีการเกินดุลการค้าคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 15 ของ GDP ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ในขณะที่การบริโภคอยู่ในระดับต่ำ เพราะรายได้จากการส่งออกไม่ได้กระจายสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน อาจประสบปัญหาเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีเงินไหลออกนอกประเทศมาก ทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และการผลิตลดลง ในที่สุด
ความท้าทายที่ประเทศต่างๆ จะต้องเผชิญ คือการแข่งขันในการค้าระดับโลก ซึ่งอุปสรรคใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย และศักยภาพในการผลิตที่ประเทศต่างๆทั่วโลกยังไม่ได้นำมาใช้ กำลังลดลง โดยจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า commodity ซึ่งส่งผลให้ระดับราคาสินค้าขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลให้แนวโน้มการเติบโตทางด้านอุปทานอาจทำให้เกิดปัญหาการลดลงอย่างรุนแรง (Negative Shock) ได้ ในระยะปานกลาง
เมื่อเดือน เมษายน ที่ผ่านมา IMF ได้ปรับการคาดการณ์ GDP ของโลก โดยในไตรมาสแรกของปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงร้อยละ 4 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น ในขณะที่ GDP ของกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังของปี แต่การขยายตัวของ GDP ยังคงสูงกว่าค่าแนวโน้ม
นอกจากนี้ IMF ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันที่มีต่อความไม่สมดุลในดุลการชำระเงินของโลก โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยนโยบายทั้งทางด้านประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและผู้นำเข้าน้ำมัน โดยประเทศผู้ส่งออกควรเร่งการการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน IMF ได้เสนอให้หาวิธีลดความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
ในไตรมาสต่อไป การปรับการคาดการณ์อาจลดลง เนื่องจากได้รวมผลของภาวะเงินเฟ้อ และผลของปัจจัยลบต่างๆ เช่น ภาวะราคาน้ำมันรุนแรงมากขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการระบาดของไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจที่เริ่มมีเสถียรภาพ ทำให้มองเห็นปัญหาในระยะปานกลางที่หลายประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ปัญหาในการปรับตัวต่อการแข่งขันทางการค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน และอุปสรรคในการปฏิรูปการเมืองของหลายประเทศที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
การขยายตัวของ GDP ประเทศสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 1 ปี 2549 กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยมีการเติบโตถึงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.8 ประกอบกับการขยายการลงทุนในหมวดเครื่องมือและอุปกรณ์ และหมวด Software ร้อยละ 1.2 อีกทั้งตัวแปรทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศทุกตัวมีการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2003 โดยการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ (Final sales to domestic purchasers) ขยายตัวร้อยละ 5.9 แสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับเดิม เช่น การลงทุน และการบริโภคในอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว โดยการลงทุนสร้างอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 4 และการบริโภคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 40.1 และ 25.3 ตามลำดับ ประกอบกับการชะลอตัวของอัตราการออมเหลือเพียงร้อยละ 0.5 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางของชาวสหรัฐ
เมื่อพิจารณาทางด้านการค้าระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2549 พบว่าสหรัฐอเมริกายังขาดดุลการค้าต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการขาดดุลในไตรมาสนี้รวม 803.4 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกขยายตัวช้ากว่ามูลค่าการนำเข้า โดยไตรมาสนี้มูลค่าการส่งออกเติบโตร้อยละ 12.1 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเติบโตร้อยละ 13.0 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการค้าตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) ที่สหรัฐฯได้ลงนามไปก่อนหน้านี้ ทำให้การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าการขาดดุลการค้าในระดับสูง มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นไม่นาน เนื่องจากผู้ผลิตและส่งออกในสหรัฐฯ กำลังปรับตัวเพื่อขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีการทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อหลัก (Core inflation) ในไตรมาสนี้ตกลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.6 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ระดับร้อยละ 1.9 การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเหตุผลการยืนยันนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ โดย Fed ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.75 ต่อปี แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถหยุดยั้งเงินเฟ้อที่เป็นผลมาต้นทุนค่าพลังงานได้ เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการลดอุปทานน้ำมันของประเทศอิหร่าน ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากแรงผลักของต้นทุน (cost — push inflation) และส่งผลทางลบต่อตลาดแรงงานที่ยังคงไม่สามารถรักษาระดับการขยายตัวของอัตราค่าจ้างได้ ทำให้อุปสงค์ต่อแรงงานอาจจะลดลงในระยะปานกลางได้
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก มีการขยายตัวโดยรวมสูงขึ้น โดยดัชนีอุตสาหกรรมรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหลัก เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 โดยมีการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และมีการผลิตสินค้าประเภท Business equipment เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก พบว่า การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์ แม้ว่าการผลิตในหมวดแร่และผลิตภัณฑ์โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก หมวดอากาศยาน และอุปกรณ์สื่อสาร หดตัวลงในเดือนมีนาคม แต่การขยายตัวของผลผลิตในหมวดสินค้าหลัก เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ภาพรวมสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2549 ของสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่ดีและส่งผลกระตุ้น GDP รวมของประเทศได้มาก
สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสหน้า แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตของ GDP และผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงเป็นบวก และมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตของอัตราค่าจ้างซึ่งสะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศมีทิศทางทรงตัว เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันและพลังงานที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และปัญหาด้านงบประมาณรัฐบาลกลาง ที่หมดไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารและความมั่นคง รวมทั้งการบูรณฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐ ต้องชะลอโครงการสวัสดิการสังคมหลายโครงการ เพื่อจะสรรงบประมาณลงในค่าใช้จ่ายประจำมากกว่าการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้อุปสงค์รวมมีแนวโน้มชะลอตัวลง
เศรษฐกิจจีน
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2549 เศรษฐกิจประเทศจีนเติบโตถึงร้อยละ 10.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการลงทุนทะยานขึ้นกว่าครึ่งของเป้าหมายการลงทุนตลอดปี โดยมียอดการลงทุนโดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 27.7 หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.9 โดยมีการลงทุนในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 คิดเป็นมูลค่า 1.16 พันล้านหยวน และการลงทุนในเขตนอกเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 230 ล้านหยวน ทั้งนี้เป็นผลจากการใช้นโยบายกระจายความเจริญไปสู่เขตนอกเมือง เพื่อลดช่องว่างระหว่างพื้นที่ในเมืองกับพื้นที่นอกเมือง แต่ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ รายได้ของประชาชน (Disposable income) ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 ขณะที่รายได้ของเกษตรกรลดลงร้อยละ 0.4 ทางด้านการลงทุนที่เกิดจากการปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสแรกมีการให้กู้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.98 ยิ่งส่งผลให้การลงทุนในจีนทวีความร้อนแรงมากขึ้น
แม้ว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในอัตราสูง และมูลค่าการค้าปลีกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.8 แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคขยับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 ในขณะที่ไตรมาสแรกของปีก่อน ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ได้ในระยะอันใกล้นี้ รัฐบาลจึงต้องหาวิธีชะลอการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน เพื่อลดความร้อนแรงของการลงทุนและเพิ่มเสถียรภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทางด้านการค้า ประเทศจีนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างเห็นได้ชัด ถึงร้อยละ 24.8 ในไตรมาสนี้ หรือคิดเป็น 174 พันเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ หรือร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกของจีนเพิ่มสูงถึงร้อยละ 26.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 197 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้ดุลการค้าเกินดุลคิดเป็นมูลค่า 23.3 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐในไตรมาสนี้ โดยสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด ซึ่งสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นผลมาจากค่าเงินของจีนอ่อนเกินจริง ทำให้ผู้ส่งออกของจีนได้เปรียบผู้ผลิตของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐ ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่ปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น ในระยะสั้น อัตราแลกเปลี่ยนมีบทบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในระยะยาว ตัวแปรสำคัญ คือ ต้นทุนการผลิตของจีนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราการออมที่เพิ่มสูงขึ้น
การเยือนสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีหูจิ่นเทาของจีนในช่วงเดือนเมษายน ได้นำประเด็นของการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนเข้าหารือด้วย แต่การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ นับว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีกระแสการต่อต้านจีนอย่างรุนแรง และมีขบวนประท้วงจีนไปก่อความวุ่นวายที่ทำเนียบขาวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การเยือนต่างประเทศครั้งนี้ นอกจากการเยือนสหรัฐแล้ว ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ได้เร่งหาพันธมิตรทางด้านพลังงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะการขาดแคลนพลังงานในระยะปานกลาง และระยะยาว โดยได้เจรจากับกลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้ ทั้งประเด็นทางการค้า การลงทุน และด้านพลังงาน
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
การเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสแรกของปี หลังจากที่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสก่อน แม้ว่าจะเป็นการชะลอตัวชั่วคราวก็ตาม โดย real GDP ของไตรมาสแรกนี้ ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะหยุดการเติบโต หลังจากไตรมาส 4/2548 มีการขยายตัวสูงขึ้นมาก แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะคาดว่า การบริโภคภาคเอกชนจะค่อนข้างคงที่ซึ่งจะช่วยให้ GDP ในไตรมาสที่ 2 กลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานและค่าจ้าง ได้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ GDP ไม่หดตัวลง
การส่งออกของญี่ปุ่นยังคงเข้มแข็ง แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าทะยานสูงขึ้น แต่โดยรวมแล้วอุปสงค์ภายนอก และการส่งออกสุทธิยังคงที่ เนื่องจากการนำเข้ายังคงน้อยกว่าการส่งออก และการพุ่งสูงขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ GDP deflator (ดัชนีที่ใช้ปรับค่า GDP ณ ราคาปัจจุบัน ให้เป็น GDP ณ ราคาปีฐาน) ปรับตัวลดลง โดย import deflator เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ซึ่งส่งผลให้ GDP deflator ลดลงร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 1,584.9 พันล้านเยน โดยเดือนมกราคมขาดดุล 348.9 พันล้านเยน เดือนกุมภาพันธ์เกินดุล 955.7 พันล้านเยน และเดือนมีนาคมเกินดุล 978.1 พันล้านเยน
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไตรมาสแรก อยู่ที่ระดับ 104 โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.4 โดยอุตสาหกรรมที่มีดัชนีอุตสาหกรรมเติบโตสูงสุดคือหมวดการผลิต Semiconductor parts และหมวด Integrated circuits โดยมีการเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.16 และ 24.25 ตามลำดับ
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยของปีก่อน โดยมี CPI ไตรมาสแรกร้อยละ 98.0 (ปี 2000 = 100) และค่าเฉลี่ยตลอดปี 2548 อยู่ที่ระดับร้อยละ 97.8 เป็นส่วนสนับสนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยกเลิกนโยบายการเงิน Ultra-Easy Monetary Policy
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
ในไตรมาสแรก กรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้คาดการณ์การเติบโตของ GDP ของประเทศในยุโรป อยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 ถึง 0.8 แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญต่อภาวะเงินเฟ้อได้ อันเป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ส่วนดัชนีภาคการผลิต PMI มีค่าเฉลี่ยในไตรมาสแรกที่ระดับ 57.6 ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการ ส่วนดัชนีภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 56.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 54.5 ขณะที่ดัชนีภาคบริการทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ระดับ 58.2 โดยเฉพาะหมวดสินค้าทุน สินค้าด้านพลังงาน และสินค้าคงทนถาวร (Durable goods) และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2002 ขณะที่อัตราว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.2 จากร้อยละ 8.3 ในเดือนมกราคม
อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโร (HICP) ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ และร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม ตามองค์ประกอบสินค้าด้านพลังงาน สินค้าด้านการสื่อสาร และสิ่งทอ ที่ชะลอตัวลง สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 2.3 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อขึ้นพื้นฐานในเดือนมีนาคม เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำและมีเสถียรภาพ
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) ไว้ที่ร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม ระดับราคาในกลุ่มประเทศยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจาก second-round effect และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนมิถุนายน เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านระดับราคาในระยะกลาง ทั้งนี้ ECB ได้ประมาณการว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.9 — 2.5 ในปี 2549 และร้อยละ 1.6 — 2.8 ในปี 2550 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำและเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศยุโรป
IMF คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปในปี 2549 จะเติบโต ร้อยละ 2 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดย EU จะต้องรักษาระดับการเติบโตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนสามารถรักษามาตรฐานการครองชีพในระดับเดิม
เศรษฐกิจอาเซียน
ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่ไตรมาสที่สุดท้ายของปี2548 ถึงไตรมาสแรกของปี 2549 มีการขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ โดยมีการส่งออกเป็นตัวกระตุ้นเกือบทุกประเทศ สำหรับภาวะเงินเฟ้อของประเทศในภูมิภาค พบว่า หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ตามการปรับตัวลดลงของราคาอาหาร และค่าเงินที่แข็งขึ้น แต่บางประเทศประสบปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากแรงผลักดันทางด้านอุปทาน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อลดความกดดันในตลาดเงิน และป้องกันการไหลออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศ
สิงคโปร์
ไตรมาสแรกของปี 2549 GDP ของสิงค์โปร์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 9.1
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาคการผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ16 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์การขนส่ง นอกจากนี้ ภาคบริการยังขยายตัวร้อยละ 7.6 เนื่องจากการขยายตัวของการค้าส่งและค้าปลีก ส่วนภาคการก่อสร้าง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 0.6
การด้านดุลการชำระเงินในไตรมาส 4/2548 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 4.35 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.17 คิดเป็นมูลค่า 108.15 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.01 มีมูลค่าการนำเข้า 89.2 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกทั้งปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 13.92 และการนำเข้าทั้งปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 13.98
เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 2/2549 จะยังคงมีการขยายตัวสูง แต่อาจจะไม่ก้าวกระโดดมากนัก เนื่องจาก ผลกระทบของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการชะลอตัวของอุปสงค์ในสินค้าส่งออกของตลาดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าจากสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการตลอดปี 2549 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 4 — 6 หลังจากที่เศรษฐกิจในปี 2548 เติบโตถึงร้อยละ 6.4 ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ ใน Outlook on East Asia ไตรมาสที่ 2 ของ World Bank ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์จะลดความร้อนแรงลง เนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ยังทะยานขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่า GDP ปี 2549 ของสิงคโปร์จะเติบโตร้อยละ 6.0
มาเลเซีย
Real GDP ในไตรมาสที่ 4/2548 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.3 ส่วนการบริโภคได้ขยายตัวเพิ่มถึงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียปี 2548 เติบโตร้อยละ 5.3
การผลิตภาคเกษตร เหมืองแร่ และภาคก่อสร้าง ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดย ภาคเกษตรมีการเติบโตติดลบ ร้อยละ 1.1 ในไตรมาส 4/2548 ซึ่งปัจจัยหลักคือการลดลงของการผลิตปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 6.0 มูลค่าเพิ่มของการผลิตยาพาราหดตัวลงเช่นกัน โดยลดลงร้อยละ 4.2 ในขณะที่ ปศุสัตว์ ประมงและป่าไม้ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.2 ซึ่งเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคเกษตรปี 2548 มูลค่าที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ส่วนภาคการผลิตเหมืองแร่ เติบโตร้อยละ 2.0 ในไตรมาส 4/2548 โดยการผลิตน้ำมันดิบ และแก๊สธรรมชาติเติบโตลดลงร้อยละ 3.6 และ 0.5 ตามลำดับ ซึ่งในปี 2548 ภาคการผลิตเหมืองแร่เหลือเพียงร้อยละ 0.8 ภาคก่อสร้างเติบโตเพียงร้อยละ 0.6
การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 4/2548 โดยมูลค่าเพิ่มขยายตัวถึงรัอยละ 7.3 เนื่องจากการเติบโตของการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กรูปพรรณ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เติบโตถึงร้อยละ 8.1 ทำให้การเติบโตของมูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรมในปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ส่วนภาคบริการของประเทศมาเลเซียในไตรมาส 4/2548 เติบโตร้อยละ 6.0 ทำให้การเติบโตของภาคบริการในปี 2548 ขยับมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5
เมื่อพิจารณาดัชนีอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2549 พบว่า ดัชนี้อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ 8.3 การผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 5.4 แต่การทำเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมการผลิต ดัชนีอุตสาหกรรมเหล็กโครงสร้างฯ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 36.7 รองลงมาคืออุตสาหกรรมเสื้อผ้า ขยายตัวร้อยละ 30.0 และเครื่องจักรกลเพื่อใช้งานทั่วไป ขยายตัวร้อยละ 25.0 การเพิ่มขึ้นของดัชนีอุตสาหกรรมการผลิต แสดงถึงความเชื่อมั่นในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในมาเลเซีย โดยยังคงขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
การส่งออกของมาเลเซียในไตรมาสแรกปี 2549 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.5 โดยสินค้าหมวดไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด เติบโตร้อยละ 8.5 รองลงมาคือหมวดน้ำมันดิบ เติบโตร้อยละ 31.7 และหมวดน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม ลดลงร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางด้านการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.7 โดยนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 สินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 และสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุนมีการขยายตัวมากที่สุด แสดงถึงการเพิ่มการลงทุน และแนวโน้มการขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซียในระยะสั้น และระยะปานกลาง
ดัชนีราคาผู้บริโภคของมาเลเซียในไตรมาสแรก ปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 มาอยู่ที่ระดับ 102.4 เนื่องจากระดับราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นหมวดเสื้อผ้าและรองเท้า และหมวดการสื่อสาร ซึ่งลดลงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ โดยสินค้าหมวดที่มีระดับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สูดได้แก่ หมวดการขนส่ง(ร้อยละ 11.5) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ (ร้อยละ 7.1) และโรงแรมและภัตตาคาร (ร้อยละ 4.4) ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน
ฟิลิปปินส์
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ