“บทบาทภาควิชาการ และประชาสังคมในภาวะการเมืองปัจจุบัน”

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday March 12, 2006 08:59 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                              สรุปการประชุมสัมมนา           
เรื่อง “บทบาทภาควิชาการ และประชาสังคมในภาวะการเมืองปัจจุบัน”
วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2549 เวลา 9.00 - 13.00 น.
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2549 เวลา 09.00 — 13.00 น. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (มหาวิทยาลัยมหิดล) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ (มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา) ศูนย์สันติวิธี และธรรมาภิบาล (สถาบันพระปกเกล้า) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง
(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และเครือข่ายพุทธิกา ได้ร่วมกันจัดประชุม เรื่อง “บทบาทภาควิชาการ และประชาสังคมในภาวะการเมืองปัจจุบัน” โดยขอใช้ห้องประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติ ณ อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท เขตราชเทวี มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นคณาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้สนใจที่จะมีบทบาทสร้างสรรค์ในภาวะการเมืองปัจจุบัน จำนวน 75 คน เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ซึ่งสรุปได้ดังนี้
ที่ประชุมมีความห่วงใยต่อภาวะการเมืองปัจจุบันว่า มีความตึงเครียดและอาจมีความ แตกแยกรุนแรงขึ้นได้ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่าย
- ยึดมั่นในสันติวิธี
- สร้างสรรค์ทางออกบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรมทั้งในแง่กฎหมายและทางสังคม
- ดำเนินการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ
- ปฏิรูปการเมือง โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง และคำนึงถึง
ความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ
- ยึดมั่นประโยชน์สุขของส่วนรวมเหนือประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
ที่ประชุมเห็นว่า นายกรัฐมนตรี พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีจุดยืนของตนเอง ควรได้รับโอกาสที่จะอธิบายจุดยืนและเหตุผลผ่านสื่อ ต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนที่เป็นพลังเงียบจึงจะได้ข้อมูล
และความรู้ประกอบการตัดสินใจหรือกำหนดท่าทีอย่างรู้เท่าทันต่อไป อย่างไรก็ดี การสื่อสารถึงประชาชนนั้น ไม่ควรเป็นเพียงการปะทะคารม หรือการใช้ความรุนแรงทางวาจา เพราะจะเป็น
การเร้าอารมณ์และทำให้เกิดการแยกขั้วภายในสังคมไทย หากควรใช้สัมมาวาจา คือ ใช้ถ้อยคำสุภาพเพื่อสื่อสารข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ในกาละเทศะอันควร
ทางออกของปัญหาน่าจะเกิดจากการเจรจาทั้งสองหรือสามฝ่าย โดยขอให้แต่ละฝ่ายวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าจะมีทางเลือกอื่นใดที่ดีกว่าการเจรจาหรือไม่ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า
หากปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าต่อไปเช่นนี้ อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น การเจรจาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่การเจรจาจะต้องมีการเตรียมการที่ดี โดยเริ่มจากการ
ดำริชอบที่จะให้มีการเจรจา การลดการปะทะคารมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในเบื้องต้น
การพูดคุยก่อนการเจรจาว่าจะเจรจากันอย่างไร เช่น ใครเจรจากับใคร ภายใต้กรอบเงื่อนไข และวาระใด เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องเป็นไปตามความสมัครใจโดยจะมีบุคคลที่เป็นกลาง
ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาด้วยหรือไม่ก็ได้
ในภาวะการเมืองปัจจุบัน ภาควิชาการและภาคประชาสังคมไม่ควรนิ่งเฉย หากควรจัด
เวทีให้ชุมชนและประชาคมจังหวัดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา
ที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากสังคมมีความแตกแยกกันทางความคิด การจัดเวทีจึงควรระวังมิให้เป็นการวิวาทะหรือการโต้เถียงว่า ใครผิดใครถูก หากควรใช้หลักการสานเสวนา คือ การเคารพในความเชื่อและเหตุผลซึ่งกันและกัน การฟังอย่างลึกซึ้ง การพูดโต้ตอบในระดับเดียวกัน เช่น ระดับ
บุคคล ระดับระบบหรือระดับคุณธรรม สื่อสารมวลชน ควรเปิดพื้นที่สำหรับการสานเสวนาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการหาทางออกร่วมกันโดยพลังของสังคม
องค์กรภาควิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุมจะดำเนินการจัด
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขอเชิญชวนองค์กรที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมให้ช่วยกันจัดกิจกรรม
เช่นนี้ ทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาค โดยขอให้ส่งข่าวการจัดกิจกรรมของเครือข่ายภาค
วิชาการและประชาสังคมมาที่ peace@mahidol.ac.th เพื่อประโยชน์ในการประสานงานต่อไป
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ