เครื่องสำอางไทยแนวโน้มยังไปได้สวย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 25, 2006 13:27 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เครื่องสำอางไทยและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร ยังขยายตัวได้ดีทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าในปี 2549 จะขยายตัวได้ถึง 40,000 ล้านบาท โดย 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าส่งออกถึง 632.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 14% 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการศึกษาของสำนักวิเคราะห์สินค้าอุตสาหกรรมว่า ปัจจุบันสินค้าเครื่องสำอางไทยและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร กำลังเป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คาดว่ามูลค่าการค้าในปี 2549 น่าจะขยายตัวได้ถึง 40,000 ล้านบาท และการส่งออกเครื่องสำอางไทยในต่างประเทศ ในระยะ 8 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 632.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14 โดยเป็นการส่งออกเครื่องสำอาง เครื่องหอมและสบู่มีมูลค่าส่งออก 496.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.9 สินค้าที่ไทยส่งออก ได้แก่ แชมพูและครีมนวดผม เครื่องแต่งหน้าและบำรุงผิว น้ำยาดับกลิ่นตัว ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก สบู่และหัวน้ำหอม และเป็นการส่งออกวัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง คิดเป็นมูลค่า 136.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17.8 ได้แก่ สารอินทรีย์ที่เป็นตัวลดแรงตึงผิว ไขเทียมและไขปรุงแต่ง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอม ซึ่งยังขยายตัวได้ดี ยกเว้นสิ่งปรุงแต่งที่ใช้หล่อลื่นและเอสเซนเชียลออยล์ ที่ส่งออกลดลง เนื่องจากการผลิตเครื่องสำอางในประเทศขยายตัวมาก จึงมีการใช้วัตถุดิบดังกล่าวมากทำให้การส่งออกลดลง
ตลาดส่งออกเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเริ่มลดลง แต่มีตลาดใหม่ที่ขยายการส่งออกได้ดี ได้แก่ ออสเตรเลีย ขยายตัว 70% เวียดนาม ขยายตัว 75% อินเดีย ขยายตัว 62%
สำหรับการนำเข้าในระยะ 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยนำเข้าเครื่องสำอางและวัตถุดิบสำหรับทำเครื่องสำอาง 560 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.7% โดยเป็นเครื่องสำอาง 180.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเครื่องสำอาง 379.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากสิงคโปร์ สหรัฐ ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส
“เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าเครื่องสำอางไทยยังเจาะได้เฉพาะตลาดกลางและล่างเท่านั้น ผู้บริโภคระดับบนยังใช้แบรนด์จากต่างประเทศ ทำให้ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการนำเข้าเครื่องสำอางแบรนด์ใหม่ๆ มาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐก็พยายามช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพเครื่องสำอางไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ประกอบกับอาเซียนจะเริ่มนำมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการปฎิบัติที่ดีของอาเซียน (ASEAN GMP : ASEAN Good Manufacturing Practice) มาใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2008 โดยสมาชิกจะต้องมีมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอางที่เหมือนกัน ซึ่งหากอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยสามารถปรับคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าวได้จะช่วยให้สินค้าไทยส่งออกไปอาเซียนได้มากขึ้น” นางอภิรดีกล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ