ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเจรจารอบโดฮาของ WTO

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2005 14:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          การเจรจารอบโดฮาของ WTO เริ่มขึ้นเมื่อพฤศจิกายน 2544 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ที่กรุงโดฮา ประเทศการ์ตา เรื่องสำคัญๆ ที่เจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงขบวนการระงับข้อพิพาท การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา และการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ การเจรจามีความคืบหน้าโดยลำดับ และคาดหวังว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในปลายปี 2549 
ทุกประเทศต่างคาดหวังว่า การเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ จะนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อการลดอุปสรรค ข้อกีดกันทางการค้าที่สามารถยกระดับการแข่งขันของประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อ
- การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรทุกรูปแบบ และ ลดการอุดหนุนภายในประเทศลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน รวมทั้งจะสามารถลดการอุดหนุนที่บิดเบือนทางการค้าลงร้อยละ 20 นอกจากนี้ จะทำให้ประเทศสมาชิกเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น สินค้าที่มีอัตราภาษีนำเข้าสูง จะต้องถูกตัดลดภาษีลงมาในอัตราที่สูงกว่า และอัตราการลดภาษีลง ต้องสอดคล้องกับระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ
- ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากอัตราภาษีจะลดต่ำลงอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังจะเสริมด้วยการลดภาษีเป็นรายสาขา เช่า สาขาอิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอและเสื้อผ้า รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ปลาและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ ยาและเครื่องมือแพทย์ ในลักษณะที่เอื้ออำนวยและให้ความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีลง
- การค้าบริการจะได้รับการเปิดเสรี และเพิ่มความสะดวกทางการค้าที่ช่วยลดขั้นตอนศุลกากร และลดต้นทุนการขายลง
ผลประโยชน์ของไทย
ประเทศไทย ในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการปฎิรูปการค้าสินค้าเกษตร ประเทศพัฒนาที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป จำเป็นต้องลดการอุดหนุนภายในลง และยกเลิกอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเปิดตลาดด้วยการลดภาษีและข้อจำกัดอื่นๆลง สินค้าเกษตรของไทยก็จะมีอำนาจแข่งขันสูงขึ้น จำหน่ายได้มากขึ้นและได้ราคาดีขึ้น ในส่วนของสินค้าเกษตรที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้า เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมันพืช กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพดและนมผง ก็จะมีราคาสูงขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนผลิตและราคาสินค้าของไทย เช่นกัน
การลดอัตราภาษีสินค้าอุตสาหกรรม และการเปิดตลาดการค้าบริการ จะทำให้การค้าโลกขยายตัว สร้างโอกาสใหม่ๆให้แก่สินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะในการผลักดันให้มีการพัฒนา Cluster เป้าหมายของไทย เช่น การบริการพัฒนา Software บริการซ่อมบำรุง และธุรกิจร้านอาหาร ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การเงิน การขนส่ง และการสื่อสาร การเปิดตลาดการค้าบริการ ยังจะนำไปสู่การเปิดรับเงินทุน ความรู้ เทคโนโลยีและระบบการจัดการที่ทันสมัยที่ไทยไม่สามารถพัฒนาขึ้นโดยลำพัง เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการที่นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของไทยในตลาดการค้าโลก นอกจากนี้ การจัดความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะช่วยลดขั้นตอนศุลกากรที่ยุ่งยาก และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกประมาณร้อยละ 5-15 เป็นการเพิ่มอำนาจแข่งขันของสินค้าไทย และอำนวยประโยชน์ต่อการนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก
ทุกประเทศต่างยอมรับ ว่า การเปิดตลาดการค้าเสรีจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว ทำให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาคมโลก ตึความจำเป็นต้องปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ พื้นฐานเศรษฐกิจและความพร้อมที่ต่างกัน ทำให้แต่ละประเทศต่างก็นำกลยุทธ์ต่างๆมาใช้เพื่อเปิดตลาดการค้าในสาขาที่ตนมีจุดแข็ง และระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตนน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็อาจถูกผลักดันให้ต้องเปิดตลาดของตนมากขึ้น ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาของไทยตระหนักถึงผลกระทบที่จะมีขึ้น และระมัดระวังให้เกิดผลทางลบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการของไทยก็ต้องเตรียมพร้อม พิจารณาใช้การเปิดตลาดเสรีทางการค้าหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และพร้อมที่จะออกไปแข่งขันในตลาดการค้าโลก และการเข้ามาแข่งขันของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ