จากข้อมูลในการสัมมนาเรื่องแนวโน้มตลาดโลก ที่โรงแรมคอนราดเมื่อวันที่ 10ม.ค. 2549 นายไมเคิล สเปนเซอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ตลาดการเงินภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค ธนาคารดอยช์แบงก์ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2549 จะขยายตัวได้ดี โดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน(จีดีพี) อยู่ในระดับ 5.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4% เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2% โดยในครึ่งปีแรกจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัว ส่วนในครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่จะกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ในปี 2550 จะเริ่มชะลอการขยายตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวลง
ทั้งนี้ หลังช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาได้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดไทยจำนวนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งขึ้นด้วย แต่เชื่อว่าเงินลงทุนดังกล่าวจะไหลเข้ามาไม่นานนัก สำหรับการพิจารณาการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยตลาดซื้อคืน นายไมเคิล ได้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะค่อยๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรวม 0.75% ภายใน 6 เดือนข้างหน้าและอาจจะไม่มีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกจนถึงสิ้นปี ในที่สุดแล้วอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นไปที่ 4.75% จนถึงสิ้นปี 2549
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่าในขณะนี้การปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว แม้ในปี 2548 ที่ผ่านมาได้มีการปรับขี้นดอกเบี้ยอยู่หลายครั้งก็ตามแต่เศรษฐกิจก็สามารถทนต่อแรงกระทบได้ดี ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปนี้จะเน้นถึงความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินเพื่อลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2549 จะอยู่ในระดับสูงและจะเริ่มชะลอตัวลง
ประเด็นวิเคราะห์:
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549 มีทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของโลก แต่จะเริ่มชะลอตัวลงในปี 2550 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลงสำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้แก่ ราคาน้ำมันที่ผันผวน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
ที่มา: http://www.depthai.go.th