กรุงเทพ--10 ก.พ.--กระทรวงการต่างประเทศ
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียน (Eminent Persons Group (EPG) on the ASEAN Charter) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2549 ที่กระทรวงการต่างประเทศ การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในระหว่างการประชุมครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่เห็นชอบกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการประชุมครั้งต่อไปในไทย
คณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียนได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน (Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Charter) ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ลงนาม ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 12ธันวาคม 2548 และแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนได้แต่งตั้งบุคคลในระดับสูง อดีตผู้นำหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมในคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ เช่น ฟิลิปปินส์ได้แต่งตั้งอดีตประธานธิบดี Fidel Ramos อินโดนีเซียแต่งตั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Ali Alatas สำหรับสิงคโปร์ได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี Prof. Jayakumar และบรูไนฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ 2 Pehin Dato Lim Jock Seng เป็นต้น สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิฯ ของไทยคือ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะผู้ทรงคุณวุฒิมีภารกิจในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะการวางกรอบสำหรับการจัดทำกฎบัตรอาเซียนต่อผู้นำในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปลายปี 2549 นี้ จากนั้น จะมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อยกร่างกฎบัตรอาเซียนต่อไป
แนวคิดการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเกิดขึ้นในกรอบของกระบวนการปฏิรูปอาเซียน ทั้งในการแก้ไขปัญหาสภาพนิติบุคคล การจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม การปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ตามที่ผู้นำอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ในระหว่างการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี เมื่อปี 2546 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน
ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลักดันและร่วมก่อตั้งอาเซียนตั้งแต่ปี 2510 และเป็นสถานที่ ลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ ที่วังสราญรมย์ ไทยได้มีบทบาทที่แข็งขันในกระบวนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนมาโดยตลอด และเห็นว่ากฎบัตรอาเซียนที่จะจัดทำขึ้นควรมีสาระไม่จำกัดเพียงเรื่องสถานะทางกฎหมายของอาเซียนและการปรับปรุงโครงสร้าง/กลไกอาเซียน หากแต่ต้องเป็นการสร้างกรอบทางด้านนโยบายและกฎหมายที่จะรองรับวิวัฒนาการของอาเซียนให้ไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และกฎบัตรที่จะจัดทำขึ้นควรมีลักษณะมุ่งไปข้างหน้า มีความก้าวหน้า สามารถใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการประชุมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากภาคต่างๆ ของสังคมเข้าร่วมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียน (Eminent Persons Group (EPG) on the ASEAN Charter) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2549 ที่กระทรวงการต่างประเทศ การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในระหว่างการประชุมครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่เห็นชอบกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการประชุมครั้งต่อไปในไทย
คณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียนได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน (Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Charter) ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ลงนาม ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 12ธันวาคม 2548 และแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนได้แต่งตั้งบุคคลในระดับสูง อดีตผู้นำหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมในคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ เช่น ฟิลิปปินส์ได้แต่งตั้งอดีตประธานธิบดี Fidel Ramos อินโดนีเซียแต่งตั้งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Ali Alatas สำหรับสิงคโปร์ได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี Prof. Jayakumar และบรูไนฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คนที่ 2 Pehin Dato Lim Jock Seng เป็นต้น สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิฯ ของไทยคือ ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะผู้ทรงคุณวุฒิมีภารกิจในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะการวางกรอบสำหรับการจัดทำกฎบัตรอาเซียนต่อผู้นำในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปลายปี 2549 นี้ จากนั้น จะมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับสูงเพื่อยกร่างกฎบัตรอาเซียนต่อไป
แนวคิดการจัดทำกฎบัตรอาเซียนเกิดขึ้นในกรอบของกระบวนการปฏิรูปอาเซียน ทั้งในการแก้ไขปัญหาสภาพนิติบุคคล การจัดโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม การปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ตามที่ผู้นำอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ในระหว่างการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี เมื่อปี 2546 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน
ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลักดันและร่วมก่อตั้งอาเซียนตั้งแต่ปี 2510 และเป็นสถานที่ ลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ ที่วังสราญรมย์ ไทยได้มีบทบาทที่แข็งขันในกระบวนการจัดทำกฎบัตรอาเซียนมาโดยตลอด และเห็นว่ากฎบัตรอาเซียนที่จะจัดทำขึ้นควรมีสาระไม่จำกัดเพียงเรื่องสถานะทางกฎหมายของอาเซียนและการปรับปรุงโครงสร้าง/กลไกอาเซียน หากแต่ต้องเป็นการสร้างกรอบทางด้านนโยบายและกฎหมายที่จะรองรับวิวัฒนาการของอาเซียนให้ไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และกฎบัตรที่จะจัดทำขึ้นควรมีลักษณะมุ่งไปข้างหน้า มีความก้าวหน้า สามารถใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการประชุมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งได้เชิญผู้แทนจากภาคต่างๆ ของสังคมเข้าร่วมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-