กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคาดการณ์การค้าไทยกับจีนจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2006 13:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าในอนาคตการค้าระหว่างไทยกับจีนจะมีการปรับให้เกิดความสมดุลได้  และการขาดดุลการค้าของไทยในภาพรวมต่อจีนจะลดลงเรื่อยๆ  แต่จะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก  
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในอนาคตจีนยังเป็นตลาดที่สำคัญและเป็นตลาดใหญ่ของโลก การค้าระหว่างไทยกับจีนจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ไทยจะมีการปรับตัวรองรับการแข่งขันกับจีนได้อย่างแน่นอนและการค้าจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ รวมทั้งการขาดดุลของไทยกับจีนก็จะลดลงด้วย โดยไทยจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นความต้องการในตลาดจีน โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่มีการลดภาษีระหว่างกันมากขึ้น
ในส่วนของภาครัฐบาลก็เร่งดำเนินการสนับสนุนการเปิดตลาดการค้ากับจีนมากขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำคณะไปเปิดตลาดสินค้าผลไม้และเกษตรที่ประเทศฮ่องกง และจีน มีการเจรจาลดอุปสรรคปัญหาต่างๆ อาทิ มีข้อตกลงในการลดขั้นตอนการผ่านแดนของสินค้าได้ง่ายขึ้น มีการใช้กลยุทธการตลาดโดยเจาะเป็นรายมณฑล มีการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ เพิ่มศูนย์กระจายสินค้าในเมืองต่างๆ ของจีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกเริ่มยอมรับแล้วว่า สินค้าจากจีนเป็นสินค้าที่มีราคาถูกมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีคุณภาพต่ำ ใช้งานไม่ทนทาน ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้สินค้าคุณภาพดีกว่าแม้จะมีราคาที่สูงกว่า ซึ่งจุดนี้สินค้าจากไทยจึงมีความได้เปรียบสินค้าจากจีน หากผู้ประกอบการยังคงรักษาคุณภาพของสินค้าได้
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกไปจีน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ไก่สดแช่แข็ง มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาล มังคุด ทุเรียน ลำไย
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2546-2548) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เฉลี่ยปีละประมาณ 30% และในปี 2548 การค้ารวมระหว่างไทยและจีนมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในครึ่งปีแรกของปีนี้ การค้ารวมระหว่างไทยและจีนมีมูลค่า 11,441.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยยังได้ดุลการค้ากับจีน
ทั้งนี้ ตั้งแต่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 จีนได้เปิดตลาดและมีความเป็นสากลมากขึ้น ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของจีนขยายตัว และกลายเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่ต่ำ นอกจากนี้การจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนและจีนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547 และเริ่มลดภาษีสินค้าปกติ (Normal Track) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าไทยและจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
“ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพราะต้องยอมรับว่าสินค้าจากจีนราคาต่ำมาก ซึ่งประเทศอื่นในโลกส่วนใหญ่ขาดดุลการค้าให้กับจีนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าไทยเปิดการค้าเสรีกับจีนแล้วจะขาดดุล แต่ในทางกลับกันเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ได้ให้ประโยชน์กับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างมาก ซึ่งไทยมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งวัตถุดิบ และสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น วัตถุดิบราคาต่ำจากจีนทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยต่ำไปด้วย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการตลาดโลกได้มากขึ้น และคนไทยยังได้บริโภคสินค้าราคาถูกจากจีนด้วย” นางอภิรดี กล่าว
สำหรับการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนและจีนได้มีการเปิดเสรีสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Program) ในสินค้าเกษตรพิกัด HS 01-08 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 และไทยและจีนได้มีการเปิดเสรีผักผลไม้ (พิกัด HS 07-08) ภายใต้ EHP ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546
ส่วนสินค้าปกติ (พิกัด 09-97) ประมาณ 5,000-6,000 กว่ารายการ เริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 และลดลงเหลือ 0 ภายในปี 2553 สินค้าอ่อนไหวประมาณ 300-400 รายการ จะเริ่มลดภาษีในปี 2555 และจะลดภาษีเป็น 0-5% ในปี 2561 (ไทยมี 251 รายการ เช่น น้ำผลไม้ ยางรถยนต์ รองเท้า กระจก เหล็กและผลิตภัณฑ์) และสินค้าอ่อนไหวสูง 100 รายการ จะคงอัตราภาษีไว้ได้ถึงปี 2568 (ไทยมี 100 รายการ เช่น นมและครีม มันฝรั่ง หอม กระเทียม กาแฟ ยานยนต์และชิ้นส่วน)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ