(ต่อ1) ปาฐกถา เรื่อง “การคลังและการเมือง”โดย นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 18, 2006 09:11 —กระทรวงการคลัง

          ฉะนั้นการที่นักลงทุนต่างประเทศ  Wait and see   แล้วคนไทยเมื่อกี้ก็ถามผมว่าจะทำอย่างไรดีเศรษฐกิจตอนนี้ ท่านพรศิลป์ ท่านถามหากันอยู่ ผมก็เรียนเลยว่านักธุรกิจในประเทศไม่ควรจะ Concern   มากนัก   เพราะว่าการเมืองประเทศไทยมันถ้าเราดูดี ๆ มันก็   peaceful มันก็คือเป็นสันติเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบสันติ   อาจจะใช้เวลามากหน่อยแต่ก็ยังเป็นสันติแล้วก็มันไม่ได้กระทบอะไรกับการดำเนินการทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก คนที่อยู่ในประเทศไทยจะเข้าใจว่าไม่ได้กระทบอะไรมากมายนัก แต่คนที่อยู่นอกประเทศไทยจะไม่เข้าใจ เพราะว่าไม่มีใครเข้าใจได้ว่ายุบสภาแล้วทำไมเลือกตั้ง เลือกตั้งแล้วไม่สำเร็จแล้วเมื่อไหร่จะเลือกตั้งสำเร็จ ข้างนอกเข้าใจไม่ได้ เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญนั้นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว นักลงทุนคิดว่าให้ยุบสภาให้เลือกตั้ง มันก็ควรจะทำไปตามกติกา รัฐธรรมนูญ พอมันเปลี่ยนไปจากตรงนั้นเขาจะเข้าใจได้ยากมาก แล้วถ้าเหตุผลจากการที่ทำขึ้นมาเราต้องยอมรับก็คือกติกาของสังคมไทย แต่อธิบายให้คนอื่นเข้าใจคงจะยากหน่อย  ก็เขาคงต้องรอนิดหนึ่ง  
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการบริหารเศรษฐกิจซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2550 ที่น่าเป็นห่วง มาก ๆ ปี 2549 ผมเชื่อว่าเรายัง Handle ได้ ยังสามารถที่จะดูแลให้มีเสถียรภาพอยู่ได้ อัตราการเติบโตแน่นอนลดลงบ้าง แต่เสถียรภาพยังอยู่ แต่อัตราการเจริญเติบโตที่ถูกลดลงจริง ๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้เราก็ควบคุมดูแลไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเสถียรภาพไม่ถูกกระทบมากในปี 2549 ที่จะโดนจริง ๆ คือ ปี 2550 ที่เราเป็นห่วงมาก
เพราะฉะนั้นจะต่อนิดหนึ่งว่านโยบายการคลังสมัยใหม่ของรัฐบาลชุดนี้เขาคิดอยู่ มันไม่เหมือนนโยบายการคลังสมัยก่อน คือนโยบายการคลังแต่ก่อนส่วนใหญ่เราจะดูเฉพาะเรื่องของภาษีกับการจ่ายค่าใช้จ่ายของรัฐบาลหรืองบประมาณ การจัดเก็บภาษีเรื่องของการจัดเก็บรายได้ ไปใช้จ่ายในงบประมาณเป็นหลักจะขาดดุลเพิ่มเกินดุลจะสมดุลก็แล้วแต่
แต่นโยบายการคลังในปัจจุบันที่ผมอยากจะแนะคือว่ามันไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว มันไม่เพียงพอ การคลังในสมัยใหม่นั้นเริ่มเข้าใจว่าถ้ารัฐบาลจำเป็นจะต้องลงทุนในสาธารณูปโภคทุก ๆ อย่าง จำเป็นจะต้องดูแลรัฐวิสาหกิจทุกอย่างต่อไปแบบนี้ ภาระที่จะมีต่อระบบภาษีจะสูงมาก ๆ ถ้าเก็บภาษีสูงมาก ๆ มันก็ต้องขาดดุลงบประมาณสูงมาก ๆ แล้วรัฐบาลก็จะต้องเป็นหนี้อีกมากมาย
ฉะนั้นนโยบายการคลังในสมัยใหม่นั้นส่วนใหญ่แล้วจะพยายามเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐเพื่อลดภาระรัฐบาล ซึ่งเราก็ทำมาได้ระดับหนึ่งในแง่ของการที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผมต้องเรียนเลยว่าผมยังไม่เห็นรัฐบาลชุดไหนในประเทศไทยที่ไม่ได้สนับสนุนนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่วนวิธีการแปรรูปจะไม่ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนไปก็ไม่เป็นไร แต่นโยบายการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั้นถ้าไม่เกิด ภาระของรัฐบาลมันจะมหาศาลในอนาคต แล้วเสร็จแล้วงบประมาณที่จะไปใช้เพื่อการศึกษา เพื่อการสาธารณสุข เพื่อการอื่น ๆ มันจะถูกบั่นทอนลงไป นอกเสียจากว่า รัฐบาลจะกู้ยืมเงินและเริ่มเป็นหนี้มากขึ้น
ฉะนั้นนโยบายที่เริ่มใช้กันที่เรียกว่า PPP คือ Public Private Partnership คือการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ มันเป็นนโยบายซึ่งจะลดภาระงบประมาณของรัฐ โดยที่ภาคเอกชนซึ่งมีกำลังเงินและกำลังการลงทุนเข้ามาทำแทนรัฐบาล และรับสัมปทานไประยะเวลาหนึ่งเป็นการตอบแทน เป็นสิ่งซึ่งเริ่มขยายขึ้นบ้างในโลก
เราไปดูในจีนเขาก็ทำทุก ๆ อย่างที่จะเป็นระบบรูปแบบที่จะเริ่มให้มีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้าไปลงทุน และก็จะขยายกิจการ แต่สมบัติก็เป็นของรัฐเหมือนเดิม ในเวียดนามเหมือนกัน ในอังกฤษนี้เป็นต้นแบบ เขาเป็นร้อย ๆ Project แม้แต่เรื่องของการบริการของภาครัฐหลาย ๆ อย่างก็เริ่มให้ภาคเอกชนทำ
ที่ญี่ปุ่นน่าสนใจมากตอนนี้แม้แต่ระบบของการดูแลการจอดรถบนถนนหนทางของ รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มจะ Privatize ให้ภาคเอกชนไปทำ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในโลกเพราะว่ามองว่ารัฐบาลทุกประเทศไม่สามารถที่จะเพิ่มภาระภาษีให้ประชาชนมากไปกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ควรที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ
ฉะนั้นเราก็จะเริ่มเห็นว่าสวนสาธารณะอาจจะบริหารโดยภาคเอกชน ไม่ใช่เฉพาะแค่รถไฟไม่ใช่แค่ทางด่วน ไม่ใช่แค่อย่างอื่น แม้แต่สวนสาธารณะการให้บริการของภาครัฐต่าง ๆ นั้น สามารถที่จะทำ Contract ออกไปเพื่อให้เขาดูแลแทนได้หมด การบริหาร การสอบใบขับขี่ในสหรัฐก็ contractout ไปได้ ในออสเตรเลียก็เหมือนกันก็ให้ภาคเอกชนทำแทนได้ ได้ทั้งนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งทำให้ภาระรัฐบาลจะลดน้อยลง ฉะนั้นถ้าตัวนี้ประเทศไทยไม่คำนึงว่ามันมีความจำเป็น ผมบอกได้เลยว่าภาระภาษีของพวกเราจะมากกว่านี้อีกเยอะ หรือไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็ต้องยอมเป็นหนี้เพิ่ม ขึ้นอีกเยอะ
เสถียรภาพของรัฐบาลที่คิดอยู่ตลอดเวลา Benchmark เราง่ายมาก เราต้องการเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ แล้วหนี้ของภาครัฐไม่ควรจะเกินร้อยละ 50 ของผลผลิตของประเทศ ผลผลิตประชาชาติ ซึ่งในประเทศในยูโรนั้น benchmark ที่เขาเคยทำไว้กับประเทศที่อ่อนที่สุดคือไม่เกินร้อยละ 60 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะอยู่ระดับนี้
เขาบอกอีกด้านหนึ่งคือเรื่องของขาดดุลงบประมาณไม่ควรจะเกินร้อยละ 2.25 ของค่าใช้จ่ายคืองบประมาณ ฉะนั้นการขาดดุลก็อย่าเกินร้อยละ 2.25 เราเองก็ตั้ง Range ไม่ควรจะเกิน 2 % ของงบประมาณถ้าจะมีการขาดดุล นี่คือตัวข้อจำกัดว่าถ้าจะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการคลังของ รัฐบาล benchmark เหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล ธุรกิจเกี่ยวกับการค้าหรือภาระหนี้ของรัฐก็เช่นเดียวกัน เราบอกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ควรจะติดลบเกินร้อยละ 2.5 ของ GDP เพื่อรักษาเสถียรภาพไม่ให้ รัฐบาลเป็นหนี้มากเกินไป ไม่ให้ภาครัฐเป็นหนี้ ไม่ให้ภาคเอกชนเป็นหนี้มากเกินไป ก็เป็นแนวทางที่จะป้องกันไม่ให้เสถียรภาพนั้นถูกสั่นคลอน ก็เป็นสิ่งซึ่ง พร้อม ๆ กันนั้นก็ต้องคิดว่าแล้วทำอย่างไรทุกคนมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้ ก็เป็นทางเดียวก็คือเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นภาคเอกชนไทยได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้ามันไปไม่ไหวโดยขาดเทคโนโลยีก็เอาต่างประเทศเข้ามาร่วมได้ก็ไม่เป็นไร นั่นคือแนวทางซึ่งผมคิดว่าทุกประเทศในโลกไปในแนวนั้นหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ฉะนั้นประเทศไทยผมอยากขอร้องว่าอย่าถอยหลัง ผมคิดว่าถอยหลังเมื่อไร รัฐบาลจะต้องเหนื่อย รัฐบาลไหนที่กล้าถอยหลังจะทำให้ประชาชนเหนื่อยมากในอนาคต
ก็คิดว่านั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะสรุปให้ฟังว่าการเมืองนั้นหนีไม่พ้นกระทบเรา การคลังนั้นไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อในประเทศจะต้องดูแลเกี่ยวกับเรื่องของ Global imbalance ที่ผมว่า ต้องดูแลเกี่ยวกับแม้แต่เรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัญหาของโลก ก็เริ่มมีการตกลงกันในโลก ใครประหยัดคือใช้วันละปริมาณน้อยลงกลับได้เครดิตขึ้นมาจากการใช้คาร์บอน ปล่อยคาร์บอนเข้าสู่โลกน้อยลง ฉะนั้นมันไม่ได้มีเฉพาะสินค้าสาธารณะ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศอีกต่อไปแล้ว
อย่าง Bird flu หรือไข้หวัดนก ทำไมสหรัฐฯ ถึง concern มาก ถึงกลัวมากเรื่องไข้หวัดนก ทำไมยุโรปถึงกลัวมากทั้ง ๆ ที่มันเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เพราะมันไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว มันไปกับผู้โดยสารที่เดินทางไปอยู่ในทั่วโลกกันแล้ว การที่ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปทั่วโลก หรือการป้องกันไข้หวัดนกก็เป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันไม่ให้มันเกิด ฉะนั้นทุกคนก็ต้องเริ่มอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้นสาธารณะภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมันก็กระทบเรา
การที่อินโดนีเซียมีไฟไหม้ป่าแล้วควันเข้ามาที่ภูเก็ต หรือที่มาเลเซีย มันก็เป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เป็นพิษที่ต้องเริ่มคุยกันตลอดว่าจะหาทางกำจัดมันได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นเรื่องของการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลการคลังระดับโลก ซึ่งเรื่องของการที่เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมนั้นก็เป็นเรื่องที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นการคลังเรา เราดูในสิ่งเหล่านี้นอกเหนือไปจากดูแลสาธารณสุขของประชาชน Public health หรือว่าสาธารณสุขของประชาชนดูแลเรื่องของการกำจัดความยากจนของ ประชาชนเพื่อให้มีฐานะดีขึ้น นอกจากจะดูแลเพื่อให้มีเสถียรภาพสมรรถนะในการต่อสู้กับโลก คือดูทั้งคนจนให้รวยขึ้น และให้คนรวยนั้นรวยขึ้นด้วย เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจมันเติบโตไปได้ มันต้องดูแลการประสานงานกับทั่วโลกด้วยในด้านเดียวกัน สิ่งที่เราทำได้ในวันนี้เพิ่งจะเริ่มต้น
ผมคิดว่าที่รัฐบาลนี้ทำและหลาย ๆ คนไม่เข้าใจ ผมคิดว่าเรื่องของการเมืองนโยบายการคลังทั่วไป มันเป็นสิ่งซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ ความจริงก็เป็นที่เข้าใจไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ต้องมีจุดที่เป็นลบอยู่บ้าง มีจุดเสียอยู่บ้าง ผมเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นดีว่าจุดเสียก็แก้กันไปจุดที่สำคัญที่สุดที่เป็นจุดเสียซึ่งทุกคนจะใช้เพื่อที่จะทำให้รัฐบาลต้องล้มหรือว่าเสียด้วยกันตลอดคือ คอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นมากี่สิบปีกี่สมัยก็ตามในที่สุดก็ตายด้วยคำนี้ ใหม่ ๆ ก็ยอมรับกัน ในที่สุดก็ตายด้วยคำว่าคอร์รัปชั่น ซึ่งก็ต้องหากลไกให้กำจัดมันไม่ให้มันเกิด
ผมคิดว่าเราก็พยายามทำ กระทรวงการคลังก็พยายามทำ พยายามสร้าง e-Auction พยายามหาความโปร่งใสในการประมูลงาน แล้วเราก็ทดสอบมันก็ไปได้ดี ตอนเราทำส่วนราชการในการประมูลผมกล้าคุยได้เลยว่าระบบ e-Auction ที่ใช้ในการประมูลส่วนราชการของเรามีผู้รับเหมาทั้งหมด 7 ราย เราจับใส่ห้อง ๆ ละ 2 คน ๆ แล้วมีจอทีวีให้ ห้องละ 2 คนถึง 7 ห้อง ส่ง สตง. เข้าไปอีกห้องละ 2 คน ให้คอยกำกับวิธีการคีย์ ของเขา แล้วก็ส่งเจ้าหน้าที่จากกรมธนารักษ์ และกรมบัญชีกลางเข้าไปดูวิธีการ ช่วยให้คำแนะนำให้คีย์ให้ถูกต้องเราก็มีจอใหญ่อย่างนี้อีกห้องหนึ่งให้ผู้สื่อข่าวทุกคนที่สนใจจะดูการประมูลนั้นเข้าไปดูได้ว่าแต่ละคนส่งราคากันอย่างไร และใครได้ราคาต่ำสุดในปัจจุบัน ฉะนั้นใครที่ได้ราคาสูงกว่าก็จะได้รับ Signal ว่าคุณราคาสูงกว่าคนอื่นนะ คุณต้องลดลงถ้าคุณอยากจะสู้ต่อ การฮั้วมันจะไม่เกิดขึ้น และผลของการสำรวจการประมูลก็ออกมาในราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลาง ต่ำกว่าเล็กน้อย และก็ทุกคนก็มองภาพว่าโปร่งใส ไม่มีการฮั้ว ไม่มีการจ่ายใต้โต๊ะ ไม่มีการจ่ายใครแม้แต่บาทเดียว นั่นคือสิ่งที่ผมภูมิใจว่ามันทำได้ ถึงเวลาเราจะผลักดันอย่างไรให้ทุกหน่วยราชการนั้นจัดทำแล้วก็สร้างระบบให้ดี ก็เป็นหน้าที่ ๆ เราจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อไป ที่จะสร้างระบบที่จะป้องกันคอร์รัปชั่น เพราะผมก็เชื่อว่าถ้านักธุรกิจเองถ้าไม่ต้องจ่ายใคร เขาก็สามารถจะทำให้ได้ราคานั้นมีประสิทธิภาพที่สุดและก็ดีที่สุดสำหรับพวกเราปัญหาอันนี้จะทำไม่ได้ถ้าเราไม่หาระบบที่ดี และการกล่าวหาก็จะไม่มีวันสิ้นสุดถ้าไม่มีระบบที่ดี และโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ให้แก่สาธารณชน
ผมคิดว่าตรงนั้นก็คือสิ่งที่ผมอยากจะจบแค่นี้เพราะว่าผมจะได้มีเวลาให้ท่านผู้ว่าฯ มาคุยเรื่องที่สนุก ๆ ที่เป็น Topic ของวันนี้ ถ้าใครอยากจะถามอะไรเชิญเลยครับ
สุรีย์พร ชัยยะรุ่งสกุล, สุภาภรณ์ จินารักษ์ : ถอดเทป/พิมพ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ