เมื่อประมาณเดือนเศษผมไปพูดที่ประชุมอธิการบดี เขาก็มีความเป็นห่วงถึงค่าตอบแทนของอาจารย์ ผมจำได้ว่าผมจบปริญญาเอกกลับมา เขียนหนังสือกับอาจารย์ฝรั่งกลับมา ผมได้เงินเดือน 4,700 บาท บวกกับภรรยาที่ได้ปริญญาโทมา 3,000 กว่าบาท รวมแล้วไม่ถึง 10,000 บาท กลับบ้านตกเย็นมานั่งทำ Cash flow ว่าเดือนหนึ่งๆ มีใช้จ่ายอะไร ถ้ามีลูกคนหนึ่งมีสตางค์ไหม คิดแผนการณ์สารพัดว่าจะทำอย่างไรจะไปฝากแม่ยายได้ เพราะไม่อย่างนั้นอยู่ไม่รอด เพราะใจผมนั้นอยากมีลูกสักโหลหนึ่ง ทำไมถึงอยากมีลูกสักโหลหนึ่ง ชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นมันจะทำให้สังคมอบอุ่น ชีวิตครอบครัวที่ไม่อบอุ่น กลับบ้านไม่มีใครเหลือเลย เป็นชีวิตแห่งความแห้งแล้ง ไม่มีความเกื้อกูลกัน และนั่นคือสิ่งที่เราเอาอย่างคนตะวันตก ดูเยี่ยงอย่างประเทศที่มีแต่ความแห้งแล้งทางวัฒนธรรม ทางสังคม แล้วเราก็ไป Adopt สิ่งเหล่านั้นมา บูชาว่านั่นคือสิ่งซึ่งทันสมัย ผิดตลอด! นั่นคือต้นเหตุของปัญหาทางสังคม ไม่ใช่ใครอื่นเลย โลกตะวันตกเป็นจุดเริ่มต้น
คนไทยเราเกิดมาเคยเลี้ยงดูพ่อแม่ เอาค่านิยมใหม่มา มีพ่อแม่ก็จริง แต่แต่งงานแล้วตัดออกไป ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ถึงเวลามีลูกแล้วค่อยเอาลูกไปฝาก ถึงเวลามาไม่มีใครเลี้ยงดูลูก เวลาที่คุณเคยเอาเงินเอาสตางค์ไปให้พ่อแม่ ลูกไม่มีโอกาสได้เห็น ถ้าลูกไม่เห็นว่าคุณเอาเงินไปให้พ่อแม่ แล้วลูกมันจะรู้จักเอาเงินมาให้พ่อแม่ได้อย่างไร ขาดคนสั่งขาดคนสอน สิ่งเหล่านี้ถึงเวลาเหมือนกันที่ว่าคนไทยเราต้องรู้จักยืนได้ด้วยขาของตนเอง คิดด้วยตัวเอง ประเทศอย่างเรามีอารยธรรมมานานเหลือเกิน เพียงแต่ว่าเราก้าวไม่ทันในเชิงเทคโนโลยี แต่มันตามทันกันได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งซึ่งรัฐบาลอยากจะฝากความหวังไว้กับมหาวิทยาลัย
ผมได้กราบเรียนในที่ประชุมอธิการบดีว่ามหาวิทยาลัย และเอกชน ต้องไม่ขาดออกจากกัน ขาดกันไม่ได้ ประเทศไทยจะส่งออกอาหารแปรรูป แต่ไม่เคยใช้บริการวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เขามีความเชี่ยวชาญทางด้าน Food science แล้ว Apply มาสู่วิชาการของภาคเอกชน ผมชี้ตัวอย่างว่าอเมริกาเมื่อ 20 ปีที่แล้วตามหลังญี่ปุ่น แต่เขาสามารถก้าวกระโดดข้ามผ่านญี่ปุ่นเพราะเขามีการ Pool ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการในภาคเอกชน ภาคเอกชนเสนอสนองในเรื่องของงบประมาณ รัฐบาล Support มหาวิทยาลัย Pool งานวิชาการ ทำงานวิชาการซึ่งเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางของประเทศแห่งอนาคตข้างหน้า เอาผลงานวิจัยมาพัฒนาการผลิตสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ในประเทศไทยเรา จุดเชื่อมโยงต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับรัฐบาลมีเพียงแค่ว่าเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี ความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันศึกษากับภาคเอกชนมีเพียงแค่ว่าความกรุณาของภาคเอกชนในการ Donate เงินให้กับมหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องเลย มหาวิทยาลัยต้องต่อสายถึงภาคเอกชน ต้องดูว่าเขาต้องการอะไร เรามีอะไร เรามีสมอง เรามีวิชาการ ผันสิ่งเหล่านั้นในการเกื้อกูลให้แก่ภาคเอกชนเกิดรายได้ขึ้นมา ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ภาคเอกชน ต้องต่อถึงกันตลอด และเมื่อถึงจุดนั้น คำว่า “เงินเดือนไม่พอ” มันจะเริ่มหายไป แต่ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำงานวิจัยได้ แต่ทำได้อย่างเดียวก็คือว่าไปทำ Training ฝึกอบรม ไม่เกิดความก้าวหน้าเชิงวิชาการที่แท้จริง เป็นเพียงแค่รองรับวิชาการจากต่างประเทศ แล้วก็มาดูว่าจะทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งซึ่งรัฐบาลเป็นห่วงมาก ท่านนายกรัฐมนตรีเคยปรารภว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่อง Science and technology
ผมเรียน ม.7 ม.8 ที่เตรียมโรงเรียนอุดมศึกษา ทุกคนในขณะนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าถ้าจบมาจะเข้าเรียนอะไร คนก็จะบอกว่าให้เรียนหมอ กับวิศวะ พอคนเข้าเรียนหมอ กับวิศวะ พอเข้าวิศวะจบได้ คนคิดต่อไปว่าจะเรียนต่ออะไร ไม่มีสักคนหนึ่งที่จะเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ แต่ในโลกแห่งวิชาการ โลกแห่ง Knowledge society ความก้าวหน้าเชิงวิชาการ คือมูลค่ามหาศาลที่นำไปสู่ผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ คนที่เป็นเพียงผู้รับเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์แต่มีมูลค่าเพิ่มเพียงนิดเดียว คนที่เป็นเจ้าของแนวคิดเขาจะกำส่วนต่างของคุณค่าของความรู้ สินค้าชิ้นหนึ่งเราเอา Know-how จากเขาเข้ามา เรามาทำการผลิตได้แค่ 10 บาท แต่เขาต่อยอดความคืบหน้าทางวิชาการ เขาขายได้ 100 เขาเอาไป 90 เราทำแค่ 10 ถ้าอย่างนั้นเราก็จะจมปลักอยู่ในโลกของความยากจนตลอดไป ถามว่าเราสามารถก้าวทันไหม ในโลกวิชาการบางประเภทเราก้าวไม่ทัน แต่ในบางสาขาเราสามารถ Focus จับจุด ทุ่มเท ความเอาใจใส่ อยู่ที่ Redefine ว่าเราจะเน้นที่จุดไหน นี่คือโลกของ Science โลกของ Technology
ที่ผมพยายามพูดมาทั้งหมดก็คือว่าบทบาทของมหาวิทยาลัย บทบาทของสถาบันการผลิตแพทย์ ต้องมีอีกในมิติของสังคม ในมิติของเศรษฐกิจ เชื่อมโยงรัฐ เอกชน และการศึกษา แต่อีกมิติหนึ่งซึ่งขาดหายไป ซึ่งผมคิดว่าน่าเสียดาย คือมิติแห่งการเมือง คนที่ฉลาดที่สุด สมองมีมากที่สุด ก็คือหมอ ต้องหาโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมือง คำว่าการเมืองไม่ได้หมายความว่าไปสร้างม็อบ การเมืองก็คือการมีส่วนร่วม มีส่วนในการพัฒนา ถ้าท่านพร้อมเข้าสู่การเมือง
ประเทศไทยที่ยังด้อยพัฒนาก็เพราะว่าจากรัฐบาลมาถึงเอกชนโดยตรง มาถึงประชาชนโดยตรง แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มันมีส่วนคั่นกลางเอาไว้ ก็คือภาคประชาสังคม คือมีการรวมกลุ่มเป็นสมาคม เป็นองค์กร ซึ่งทำให้ภาค Social society ของเขาเข้มแข็ง เมื่อประชาสังคมเข้มแข็ง ก็เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นที่พึ่งของรัฐบาล แต่ที่เราผ่านมาหลาย 10 ปีมานี้ จากรัฐบาลถึงประชาชน เพราะเรามีส่วนกลางนี้ค่อนข้างจะอ่อนแอ ในเมื่อแพทย์ พยาบาล ก็คือคนกลางซึ่งอยู่ในชนบท อยู่ในเมือง ใกล้ชิดประชาชน ประชาชนมีความเชื่อถือและเลื่อมใส ต้องปลูกฝังว่าจะต้องช่วยเหลือตรงนี้อย่างไร ให้เขามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนั้น ทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ก็จะไม่สูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ผมอยากจะฝากเอาไว้ว่าบทบาทที่เราหวังที่จะเห็น คือบทบาทในการเกื้อกูลพัฒนาสังคม บทบาทในการสร้างเศรษฐกิจในโลกอนาคตข้างหน้า บทบาทในการสร้างชื่อเสียงในเชิงวิชาการในระดับโลก และก็บทบาทที่ Active ทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจ
เมื่อวานตอนบ่ายผมได้มีโอกาสหยิบเอาเอกสารซึ่งคุณหมอรัชตะฝากมาให้ผม พูดถึงเรื่องของทิศทางที่รามาธิบดีจะก้าวได้อย่างไร ผมอ่านแล้วผมประทับใจมาก การมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่ขึ้นชื่อลือชาแห่งภูมิภาค การตั้งใจที่จะเป็นประทีปส่องแสงสาธารณสุขไทยให้กับคนไทย นำไปสู่โครงการต่างๆ ทั้งในการพัฒนาแพทย์ การยกระดับการให้บริการ ในการให้บริการทางสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง
วันนี้มาเพื่อที่จะมาขอว่าความตั้งใจของรัฐบาลมีอยู่แล้ว อยากจะให้รามาธิบดีเป็นหนึ่งในหัวขบวนของสถาบันทางการแพทย์ ที่เริ่มทำให้สถาบันทางการแพทย์ทั้งหลายมีความตื่นตัวขึ้นมา พลิกโฉมตัวเอง ยกระดับตัวเองขึ้นมา จุดไฟ ชอบใช้คำว่า “เอาไม้ขีดไปคนละก้าน” ปลุกไฟขึ้นมาว่าโลกแห่งวิชาการ โลกแห่งความรอบรู้ โลกแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมและการเมืองเป็นสิ่งซึ่งเป็นหน้าที่เป็นภารกิจของแพทย์และพยาบาลทุกๆ คน
รามาธิบดีผ่านมาแล้ว 36 ปี เปรียบเสมือนคนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จากวันนี้เดินไปข้างหน้า เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นผู้ที่ส่องประทีปให้สาธารณสุขไทย ไม่เพียงเท่านั้น อยากให้มีโอกาสเดินไปข้างหน้า ชี้ทางให้รัฐบาล ชี้ทางที่ถูกต้องให้สังคมไทยด้วย และก็อย่าลืมคำที่ผมขอเอาไว้ ผมอยากจะเห็นหมอที่เป็นหมอ ที่คนไทยทุกๆ คนรักว่าเก่งและดี พูดคำไหนคนก็พร้อมที่จะเชื่อ ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่เครื่องจักรแห่งการรักษาพยาบาล ท่านเป็นผู้ที่โชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนแพทย์และพยาบาล ท่านเป็นผู้ที่มีเกียรติ และผมก็ถือว่าท่านเป็นผู้ที่สละแล้ว การที่เป็นหมอ คือการที่สละเพื่อเพื่อนมนุษย์
ก็ต้องขอบคุณอีกครั้งที่ให้เกียรติเชิญผมมาพูดในวันนี้ มีสิ่งใดที่ท่านนายก ที่รัฐบาล ที่พวกผม จะรับใช้ได้ ขอให้บอก จะพยายามทำเท่าที่เราจะสามารถช่วยเหลือท่านได้ ขอขอบคุณอีกครั้งครับ
*ในโอกาสการประชุมวิชาการ 36 ปีรามาธิบดี
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สุรีย์พร ชัยยะรุ่งสกุล : ถอดเทป
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : Edit