การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ภายหลังจัดทำ FTA มีแนวโน้มดี คาดไทย-อินเดีย สามารถเปิดตลาดสร้างมูลค่าการค้าเพิ่มได้อีกมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 16, 2006 16:28 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า  มูลค่าการค้าระหว่างไทย กับ อินเดีย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม — เมษายน)  สำหรับสินค้าเร่งลดภาษีเบื้องต้น (Early Harvest Scheme : EHS)  จำนวน 82 รายการ  มีมูลค่าการค้ารวม 118.5 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 ที่มีมูลค่าการค้า 108.5 ล้านเหรียญสหรัฐ  
โดยการส่งออกจากไทยไปอินเดียมีมูลค่า 84.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 85.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าสินค้าของไทยจากอินเดียมีมูลค่า 34.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีอยู่ที่ 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอินเดีย 49.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 61.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญภายใต้ EHS 10 รายการแรก ประกอบด้วย เครื่องรับโทรทัศน์สี เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 159.4 โพลิคาร์บอเนต ลดลงร้อยละ 70.1 หลอดภาพแคโทดเรย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 อีพอกไซด์เรซิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 111.1 รัตนชาติและกึ่งรัตนชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนประกอบที่ใช้เฉพาะกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน ลดลงร้อยละ 20.8 เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2 ตู้เย็นชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนแบบ คอมเพรสชัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.3 และโพลิเอสเทอร์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 30.1
ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญภายใต้ EHS 10 รายการแรก ประกอบด้วย กระปุกเกียร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.0 เหล็กหรือเหล็กกล้า นำเข้าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อะลูมิเนียมไม่เจือ ลดลงร้อยละ 10.8 อะลูมิเนียมออกไซด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 โพลิเอสเทอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 494.9 ของอื่นๆ ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 120.8 เครื่องใช้อื่นๆ เช่น ก๊อก เพิ่มขึ้นร้อยละ 212.0 เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 อะลูมิเนียมเจือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 522.3 และส่วนประกอบใช้กับเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0
ในภาพรวมไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าเร่งลดภาษี 82 รายการ ไปยังอินเดียได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าของอินเดียซึ่งเดิมมีอัตราค่อนข้างสูงได้ลดลงตามพันธกรณี ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว อย่างไรก็ดี สินค้าสำคัญของไทยบางรายการการส่งออกอ่อนตัวลง โดยเฉพาะโพลิคาร์บอเนตจาก 28.1 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 เหลือเพียง 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 69.4 เนื่องจากในระยะ 4 เดือนแรกของปี 2548 การส่งออกโพลิคาร์บอเนตของไทยไปยังอินเดียได้ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 485.4 แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2547 การส่งออกในปี 2549 ยังสูงกว่าร้อยละ 79.2
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีการนำเข้า 10 รายการแรก เป็นส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน ที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าอื่นในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ และในช่วงต้นปีมีการนำเข้าสูงเป็นการนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้าในปีนี้ ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายปีการนำเข้าจะลดลงกว่าช่วงต้นปี
“มูลค่าการค้าภายใต้สินค้า 82 รายการระหว่างไทยกับอินเดีย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากการทำ FTA ระหว่างไทยกับอินเดีย ได้ขจัดอุปสรรคปัญหาในด้านของการทำการค้าได้มากขึ้น ทำให้สินค้าของไทยและอินเดียสามารถที่จะเปิดตลาดระหว่างกันได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตคาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางอภิรดี กล่าว
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการเริ่มลดภาษีสินค้าระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2547 สินค้า 82 รายการ มีมูลค่าการค้า 216.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 147.4 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 69.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าอินเดีย 78.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 มีมูลค่า 430.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 341.3 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 88.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 252.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับมูลค่าการค้ารวมของ 4 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 912.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีมูลค่าการค้ารวม 977.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.6 การส่งออกจากไทยไปอินเดียมูลค่า 470.3 ล้านเหรียญสหรัฐ จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 504.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.8 การนำเข้าจากอินเดียมาไทยมูลค่า 442.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 472.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.4 จากมูลค่าการค้าทั้งหมดไทยได้เปรียบดุลการค้ากับอินเดียอยู่ที่ 27.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.0 ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนไทยได้เปรียบดุลการค้า 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ