นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทอาคารที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ ต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ อาคารเอกชน ที่จัดเป็นอาคารสาธารณะ เช่น อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่เป็นพิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรม หรือสถานบริการ และป้าย เป็นต้น ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย คุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ ที่ได้มีการทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ไว้ก่อนหน้าที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ให้แสดงสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น สำหรับอาคารที่มีอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังไม่มีการจัดทำประกันภัยต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งกรมการประกันภัย ได้เคยเสนอให้ทราบไปแล้ว
นางสาวพจนีย์ฯ กล่าวต่อไปว่า กรมการประกันภัยได้ประสานกับภาคธุรกิจประกันภัย ในการรองรับกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวโดยจัดเตรียมกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายไว้แล้ว ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครอง ความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ คือ การเสียชีวิต หรือความบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยของบุคคลภายนอก และความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของ บุคคลภายนอก ยกเว้นบุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย และต้องมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุเท่านั้น สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันภัยดังกล่าวนี้อยู่ในช่วง 0.01% - 5 % ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าวขึ้นอยู่กับความเสี่ยงภัยของอาคารแต่ละประเภท จึงขอประชาสัมพันธ์ มาอีกครั้งหนึ่งให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ เร่งจัดทำประกันภัยก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดยด่วน ซึ่งในขณะนี้บริษัทประกันวินาศภัยมีความพร้อมที่จะรับทำประกันภัยดังกล่าวแล้ว (หากเจ้าของอาคารได้ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายไว้แล้วผู้ครอบครองอาคารไม่ต้องทำประกันภัยอีก) หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันภัยดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โทรศัพท์ หมายเลข 0-2547-4550 หรือสายด่วนประกันภัย 1186
ที่มา: http://www.doi.go.th