จับตาความผันผวนตลาดเงินโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 7, 2006 16:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “สภาพคล่องของเศรษฐกิจโลก”ซึ่งว่าด้วยประเด็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุน โดยในช่วงกลางเดือน พค.ถึงกลางเดือน มิย.ที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Economies:EMEs) ได้ประสบภาวะการไหลออกของเงินทุน เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศเปลี่ยนการถือครองสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ ที่แม้จะมีผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงสูงกว่าไปถือครองสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมากกว่า ซึ่งการไหลออกครั้งนี้ของเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ EMEs 6 แห่งในเอเชีย คือ ไทย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ มีจำนวนสูงถึง 13.0 พันล้านดอลลาร์ (ช่วง 12 พค.-31 กค. 2549) หรือประมาณ 15.3 % ของเงินทุนไหลเข้าสะสมทั้งหมดตั้งแต่ปี 2547 ถึงช่วงเวลาก่อนเกิดภาวะดังกล่าว
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ส่งผลให้เกิดความผันผวนของค่าเงินและตลาดหลักทรัพย์ และถึงแม้ว่าเงินทุนจะไหลกลับเข้ามายัง EMEs ตั้งแต่ปลายเดือนมิย. 2549 เป็นต้นมา แต่อัตราไหลเข้าชะลอลงกว่าช่วงต้นปี หากพิจารณาสภาพคล่องจากการขยายตัวของปริมาณเงิน M2 โดยรวมของประเทศอุตสาหกรรมและประเทศในเอเชียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีลักษณะเป็นวัฎจักรค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีประเทศอุตสาหกรรม เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่สภาพคล่องชะลอตัวจะเป็นช่วงเดียวกันกับการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เช่นวิกฤตการเงินในประเทศเอเชียระหว่างปี 2540-2541 การล่มสลายของกองทุนประกันความเสี่ยง Long Term Capital Management (LTCM) ในปี 2541 และวิกฤตในอาร์เจนตินาปี 2544
นอกจากนี้ ในภาวะที่สภาพคล่องลดลง ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการปรับสัดส่วนการลงทุนในสกุลเงินและสินทรัพย์ ยกตัวอย่าง หากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบความเชื่อมั่นต่อประเทศใด นักลงทุนจะโยกย้ายเงินทุนออกไปจากประเทศนั้น หรือหยุดการลงทุนทันที ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องในประเทศและอาจนำไปสู่ปัญหาการเงินได้
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหลักทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแนวโน้มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป ประกอบกับสหรัฐก็ยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับ 5.25 % ไว้อีกระยะหนึ่งรวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ประเด็นวิเคราะห์
การที่ภาวะสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการส่งออกของไทย จึงควรระมัดระวังผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนในตลาดการเงินมากขึ้น และปรับตัวโดยการทำประกันความเสี่ยงในระยะเวลาสั้น ๆ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ