ลู่ทางตลาดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างประเทศจะเปิดกว้างยิ่งขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 16, 2006 16:25 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า  องค์การการค้าโลกได้เปิดการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและประมง (Non-Agricultural Market Access: NAMA) ซึ่งรวมถึงสิ่งทอและเสื้อผ้า โดยมีเป้าหมายที่จะกำหนดกรอบการลดภาษีสินค้าดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา กรมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับท่าทีการลดภาษีสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากสาขาดังกล่าวเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ซึ่งการลดภาษีศุลกากรใน WTO แม้ว่าจะคำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด แต่สินค้าสาขานี้เป็นสาขาที่มีการผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ค่าจ้างแรงงานจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดความได้เปรียบของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
ดังนั้น ภาคเอกชนต้องใคร่ครวญให้ดี และรวมท่าทีเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งการลดภาษีในกรอบ WTO จะเป็นการลดภาษีให้แก่สมาชิกขององค์การการค้าโลกทั้งหมดคือ 150 ประเทศ รวมเวียดนามที่จะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในไม่ช้านี้ด้วย
นางอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าสาขาหลักที่ไม่ได้มีการลดภาษีตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก การค้าของสาขานี้จะเป็นการเปิดตลาดโดยการลด/ยกเลิกโควตาในตลาดผู้นำเข้าที่สำคัญ ซึ่งโควตาการนำเข้าทั้งหมดได้ถูกยกเลิกแล้วเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา ดังนั้นการปกป้องอุตสาหกรรมนี้ที่ประเทศผู้นำเข้าจะทำได้ก็โดยการตั้งกำแพงภาษีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระดับรัฐมนตรีสมาชิกองค์การการค้าโลกที่เมืองโดฮา ที่ประชุมได้มีมติให้มีการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม โดยให้ลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากร รวมถึงลดหรือยกเลิกภาษีสูงและภาษีขั้นบันได (ภาษีที่เก็บตามขั้นตอนการผลิต ได้แก่วัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และสินค้าสำเร็จรูป)
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีจะทำให้ต้นทุนเข้าสู่ตลาดหลักของไทย คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นถูกลง ผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้อาจมีความต้องการใช้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น และในราคาที่ถูกลง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ