นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ของอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2548 ณ โรงแรม Sofitel Central Plaza กรุงเทพฯ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. อาเซียน-จีน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าได้แล้ว โดยประเทศสมาชิกได้เริ่มลดภาษีสินค้าตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ต่อไปจึงจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งประเทศสมาชิกยังไม่มีท่าทีร่วมกัน โดยในเรื่องการค้าบริการมีประเด็นสำคัญเรื่องการกำหนดนิยามของนิติบุคคลตามกฎหมาย และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถสรุปความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ เพื่อให้รัฐมนตรีการค้าอาเซียน-จีน ลงนามได้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 11 ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ในส่วนของการเจรจาด้านการลงทุน มีความคืบหน้าไม่มาก เนื่องจากท่าทีที่แตกต่างกันระหว่าง อาเซียนและจีน โดยอาเซียนต้องการให้ใช้ความตกลงด้านการลงทุนภายใต้อาเซียน (AIA Agreement approach) เป็นพื้นฐาน โดยเปิดเสรีแบบครอบคลุมอย่างกว้างขวาง (negative list approach) ในขณะที่จีนต้องการให้เปิดเสรีเฉพาะสาขาที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ (positive list approach) ซึ่งอาเซียนและจีนจำเป็นต้องประนีประนอมกันมากขึ้น เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้า
2. อาเซียน-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นนำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินการความร่วมมือกับอาเซียน ในปี 2547 เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น (Japan’s New Economic Cooperation Initiatives 2004: Cooperation towards Intra-ASEAN/ASEAN-Japan Economic Integration) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ อุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AMEICC : AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee) ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1) ทิศทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของ AMEICC ซึ่งจะให้ความสำคัญกับโครงการที่สนับสนุนการรวมกลุ่มใน 11 สาขาสำคัญของอาเซียน และ 2) การจัดตั้งคณะทำงานด้าน IT
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้เสนอโครงการความร่วมมือเพิ่มเติมกับอาเซียน โดยแบ่งเป็น
1) ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จาก IT เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า สนับสนุนโครงการที่จะช่วยฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น
2) ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนสมาชิกใหม่อาเซียน เช่น การจัดนิทรรศการให้กับประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งความสามารถในการบริหารการเงินของ SMEs ในอาเซียน
สำหรับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) ได้ร่วมหารือกับประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่น (4 Co-Chairs) ซึ่งประกอบด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและป่าไม้ โดยประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ 1) แนวทาง การเปิดเสรีการค้าสินค้าและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นพยามผลักดันให้ใช้กรอบความตกลงทวิภาคีที่เจรจากับอาเซียนแต่ละประเทศเป็นแนวทางดำเนินงาน ในขณะที่อาเซียนต้องการให้เป็นการเจรจาในกรอบภูมิภาคที่มีรายการสินค้าและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าร่วมกัน (common list of products/ common ROO) นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้คณะเจรจาฯ หารือในด้านภาษี (tariff concession) มาตรการด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) และอุปสรรคด้านเทคนิค (TBT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตลาด (market access) ด้วย และ 2) ข้อบทในด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน ที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้รวมไว้ในกรอบความ ตกลงด้วย ในขณะที่อาเซียนเห็นควรให้เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกรอบความร่วมมือระหว่างกัน เท่านั้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้ศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
3. อาเซียน-เกาหลี ขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (Framework Agreement) เพื่อเสนอผู้นำอาเซียนและเกาหลีลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งการเจรจามีความคืบหน้าไปมาก โดยประเด็นที่จะต้องเร่งหาข้อสรุป ได้แก่ รูปแบบการลดภาษีสินค้า (Modality for Trade in Goods) ซึ่งประกอบด้วย ขอบเขตหรือจำนวนรายการสินค้า และกรอบระยะเวลาที่จะลดภาษีสินค้าในกลุ่มต่างๆ (กลุ่มปกติ และกลุ่มอ่อนไหว) นอกจากนี้ ไทยยังผลักดันให้หารือในเรื่องสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) และหาข้อสรุปในเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้มี ความชัดเจน เพื่อให้ได้กรอบความตกลงที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้เกาหลีพิจารณาให้ความยืดหยุ่นในการเจรจากับประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน (CLMV) และพิจารณาให้สิทธิ MFN ภายใต้ WTO กับประเทศลาว และเวียดนาม ในฐานะประเทศที่พัฒนาน้อยด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายเกาหลีได้จัดทำข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมพิเศษเกซอง (Gaesong Industrial Complex) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมในเกาหลีเหนือ โดยขอให้อาเซียนพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่มาจากเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย ซึ่งอาเซียนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าวทั้งนี้ จะมีการหารือในรายละเอียดในการประชุมคณะเจรจาอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 5 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2548 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ต่อไป
4. อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่มบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งจำเป็นจะต้องกำหนด วิสัยทัศน์ (VISION) ที่ชัดเจน เพื่อยกระดับความร่วมมือจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มุ่งให้ความสำคัญกับ การดำเนินโครงการต่างๆ (Project-based Cooperation) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียน ยกร่าง Concept Paper ที่กำหนดวิสัยทัศน์ และการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อให้ SEOM พิจารณาก่อนเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาให้ความเห็นชอบและเป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป
ไทยได้รายงานความคืบหน้าภายใต้โครงการที่รับผิดชอบ 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN+3 Satellite Image Archive for Environmental Study) ซึ่งไทยจะเริ่มทดลองต่อเชื่อมระบบกับสาธารณรัฐเกาหลี และหากมีประเทศใดพร้อมจะพิจารณาทดลองเชื่อมต่อได้ด้วย 2) การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างอาเซียนและประเทศบวกสาม (Project for Promoting the Entertainment Industry) ไทยได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเสนอรายชื่อ focal point ของแต่ละประเทศ เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ ซึ่งในส่วนของไทย มีกรมส่งเสริมการส่งออกเป็นเจ้าภาพหลัก ทั้งนี้ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ได้แจ้งให้การสนับสนุนโครงการฯ และจะแจ้งชื่อ focal point ให้ไทยและสำนักเลขาธิการอาเซียนทราบต่อไป และ 3) โครงการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN e-Commerce Incubator) อาจจำเป็นต้องทบทวนโครงการ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งในส่วนของไทย มีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ มีข้อเสนอโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ 1) การบริหารโครงการด้านวิศวกรรมระหว่างประเทศ (International Engineering Project Management) ซึ่งเสนอโดยประเทศจีน และ 2) โครงการระบบจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management System) ซึ่งเสนอโดยสาธารณรัฐเกาหลี โดยที่ประชุมจะพิจารณาในรายละเอียดของทั้งสองโครงการว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
5. อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์เสนอรูปแบบการเจรจาแบบ Comprehensive ที่ให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง และต้องการให้มีการเจรจาไปพร้อมกัน ในขณะที่อาเซียนเสนอที่จะเจรจาเรื่องการค้าสินค้า (Trade in Goods) ก่อนแล้วจึงเจรจาเรื่องการค้าบริการและการลงทุนในภายหลัง และเนื่องจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างประเทศคู่เจรจา อาเซียนจึงขอให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์คำนึงถึงความไม่พร้อมในประเด็นที่อ่อนไหวบางเรื่องด้วย เช่น การจัดซื้อ จัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement) นโยบายการแข่งขัน (Competition policy) แรงงาน (Labour) และสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy) เป็นต้น ตลอดจนข้อจำกัดด้านบุคลากรของอาเซียน ซึ่งฝ่ายออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์รับที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปหารือภายใน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
6. อาเซียน-อินเดีย อาเซียนและอินเดียได้หารือเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ และเป็นเหตุให้ต้องยกเลิก Early Harvest Programme (EHP) และ ต้องพัก การเจรจาไปตั้งแต่ต้นปี 2548 ที่ประชุมจึงมีมติว่า ควรให้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานของการศึกษาเรื่อง ROO โดยจัดต่อเนื่องกับการประชุมคณะทำงานด้าน กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนในช่วงเดือนตุลาคม 2548 และหลังจากนั้นจึงจัดการประชุมคณะเจรจาอาเซียน-อินเดีย คณะทำงานด้านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของสินค้า และคณะทำงานด้านกลไกการระงับข้อพิพาทต่อไป
นอกจากนี้ เนื่องจากอาเซียนและอินเดียคงไม่สามารถเริ่มดำเนินการลดภาษีสินค้าภายใต้เขต การค้าเสรีได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2549 ตามที่กรอบความตกลงฯ กำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรายงานให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและอินเดียพิจารณา ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนยกร่าง พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอให้คณะเจรจาอาเซียน-อินเดียพิจารณาก่อนเสนอรัฐมนตรีต่อไป
7. อาเซียน-USTR ที่ประชุมพิจารณาแผนงานภายใต้ Enterprise for ASEAN Initiative (EAI) ที่เป็นข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา (ประกาศเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2545) ที่จะใช้เป็นแนวทางดำเนินการไปสู่ การสร้างเครือข่ายเขตการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าเพียงบางเรื่อง เช่น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยอาเซียนเห็นควรให้ทบทวนแผนงานภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย ความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน มาตรฐานสินค้า ความร่วมมือด้านศุลกากร และ การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ เห็นชอบด้วย ทั้งนี้ อาเซียนยังขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ เสนอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องแนวทางการเชื่อมโยงเครือข่ายเขตการค้าเสรีทวิภาคีที่กำลังดำเนินการอยู่กับประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศในแถบอเมริกากลาง ว่า ภายหลังจากการดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแนวทางความร่วมมือกับอาเซียน ต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-