รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 28, 2006 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                        สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนเมษายน 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 147.77 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 (178.64) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (140.71)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ การผลิตน้ำตาล การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 63.17 ลดจากเดือนมีนาคม 2549 (73.03) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (63.54)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2549
- ภาวะการผลิตและการส่งออกเริ่มชะลอตัว ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก สำหรับในเดือนหน้าการผลิตและการส่งออกอาจจะชะลอตัวจากปัจจัยราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และการจำหน่ายในประเทศจะชะลอตัวตามภาวะเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
- ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวไม่มากนัก โดยการส่งออก เนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาท การระงับการเจรจาเขตการค้าเสรี ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า GSP จากสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาในประเทศ
- สถานการณ์เหล็กในเดือนพฤษภาคม 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตลาดส่งออก
- ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีแนวโน้มขยายตัว โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 103,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 55 ส่งออกร้อยละ 45 ของปริมาณการผลิต
- ในเดือนพฤษภาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่มีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ สำหรับในเดือนมิถุนายน 2549 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะลดลงเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้การก่อสร้างเริ่มชะลอตัว ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
- ภาวการณ์ผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม 2549 ชะลอตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน รวมทั้งผลของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยแนวโน้มการผลิตและขายในช่วงไตรมาส 2 จะลดลงเล็กน้อย และจะเริ่มผลิตมากในช่วงไตรมาส 3 ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก การขยายตัวของความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลก โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
มี.ค. 49 = 178.64
เม.ย. 49 = 147.77
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตน้ำตาล
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
มี.ค. 49 = 73.03
เม.ย. 49 = 63.17
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่อง ทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกเริ่มชะลอตัว
ตามทิศทางเศรษฐกิจโลก สำหรับในเดือนหน้าการผลิตและการส่งออกอาจจะชะลอตัวจากปัจจัยราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และการจำหน่ายในประเทศจะชะลอตัวตามภาวะเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 16.1 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 10.6 โดยสินค้าที่ผลิตเพื่อ ส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 9.3 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 16.0 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 2.3 และแป้ง มันสำปะหลังร้อยละ 19.4 สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ อาหารสุกร มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7ปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 14 และน้ำตาลทรายผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นอย่างมากเนื่องจากปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายฤดูหีบมากกว่าช่วงต้นฤดู ทำให้โรงงานเร่งผลิตน้ำตาลเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศ
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 9.2 แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.3 เป็นผลจากราคาสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้า ประกอบกับรายจ่ายในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นส่งผลต่ออำนาจซื้อที่ลดลง
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ไก่แปรรูป ร้อยละ 11.9 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 27.4 เป็นผลทางจิตวิทยาของประเทศผู้นำเข้าต่อการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในทวีปอาฟริกาและยุโรปตะวันออก สำหรับน้ำตาลทราย ความต้องการในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของไทยลดลงมากถึงร้อยละ 43.8 และ 23.8
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวจากปริมาณคำสั่งซื้อ สินค้าของลูกค้าที่ปรับตัวกับระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียยังคงแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และสหภาพยุโรปยังกังวลกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลต่อการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดโรคจากประเทศไทย
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล
น้ำตาลทราย
การผลิต
ในไตรมาส1/2549 มีการผลิตน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น 4,316,222.64 ตัน เป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1,974,967.86 ตัน หรือ 46% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ สำหรับปริมาณผลผลิตน้ำตาล ในเดือนมีนาคมของปีนี้มีจำนวน 847,191.55 ตัน
การบริโภค
ในเดือนมีนาคม 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 211,625.38 ตัน เพิ่มขึ้น 8% จากเดือนก่อนหน้า โดยในไตรมาส1/2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 605,888.81 ตัน เพิ่มขึ้น 6 %จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
การส่งออก
ในเดือนมีนาคม 2549 มีการส่งออกน้ำตาล จำนวน 165,837.83 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 106,599.48 ตัน ทำให้ไตรมาส1/2549 มีการส่งออกจำนวนทั้งสิ้น 356,188.28 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 140,084.86 ตัน หรือ 39% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด โดยปริมาณการส่งออกในเดือนมีนาคมของปีนี้ลดลง 57% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
การนำเข้า
ในไตรมาส 1/2549 การนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวน7,263.48 ตัน โดยเป็นการนำเข้าในเดือนมีนาคม 2549 จำนวน 982.00 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 100 % จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
กากน้ำตาล
ในเดือนมีนาคม 2549 มีการผลิตกากน้ำตาล จำนวน 447,070.16 ตัน เพิ่มขึ้น 58% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลไตรมาส 1/2549 มีจำนวน ทั้งสิ้น 1,933,073.63 ตัน ด้านการส่งออกกากน้ำตาลในเดือนมีนาคม 2549 มีจำนวน 43,570.84 ตัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนไตรมาส 1/2549 มีจำนวน 128,266.02 ตัน
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเนื่องจากจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การระงับการเจรจาเขตการค้าเสรี ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งประเทศคู่แข่ง ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐ ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาต่ำกว่าในประเทศ
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เดือนเมษายน 2549 ลดลงร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกันกับการผลิตผ้าและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.1 และ 20.3 ตามลำดับ เนื่องจากในเดือนเมษายนมีจำนวนวันทำงานน้อยกว่าเดือนก่อน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้คำสั่งซื้อลดลง ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายลดลง
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวมในเดือนเมษายน 2549 ปรับ ตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 26.0 ซึ่งลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-32.8%) เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบ (-30.7%) ผ้าผืน (-21.6%) ด้ายฝ้าย (-22.6%) ด้าย เส้นใยประดิษฐ์ (-16.5%) เคหะสิ่งทอ (-29.5%) ผ้าปักและผ้าลูกไม้ (-14.7%) และเส้นใยประดิษฐ์ (-5.2%) ยกเว้นเพียงเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากไหมที่ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3
ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.5 , 18.1 , 12.7 และ 6.9 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมในเดือนเมษายน 2549 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 5.8 โดยเฉพาะเส้นใยใช้ในการทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 4.0 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ผ้าผืน นำเข้าลดลงร้อยละ 6.4 ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 9.3 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอิตาลี ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นำเข้าลดลงร้อยละ 25.4 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง
ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ ด้ายทอผ้าฯ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าเดือนเมษายน 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน
4. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและ เสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การระงับการเจรจาเขตการค้าเสรี ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน(ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้า GSP จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาในประเทศ
4. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศยุติการดำเนินการมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรี ของไทย หลังจากพิจารณาแล้วว่าบริษัทไม่มีส่งสินค้าเข้าไปทุ่มตลาด พร้อมทั้งได้ยกเลิกการทบทวนกับบริษัท นครไทยสตริปมิลและบริษัท จีสตีลด้วย เนื่องจากไม่มีการส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไปยังประเทศดังกล่าว”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน เม.ย. 49 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 145.39 ชะลอตัวลง ร้อยละ 6.53 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 41.40 สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ชะลอตัวลง ร้อยละ 8.47 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงมากที่สุดในกลุ่มนี้ โดยลดลง ร้อยละ 22.38 เนื่องจากราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงมีสต๊อกวัตถุดิบน้อยลง และทำให้ต้องปรับแผนการจำหน่ายเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่ รองลงมา คือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 15.52 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 15.24 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ทรงตัว ร้อยละ 2.62 โดยลวดเหล็กมีการผลิตที่ ลดลง มากที่สุด ร้อยละ 19.67 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 14.29 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนชะลอตัวลง ขณะที่โครงการ Mega Project ของภาครัฐยังไม่ดำเนินการ แต่เหล็กลวด มีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.08 เนื่องจากมีโรงงานหนึ่งได้หยุดการผลิตเพื่อซ่อมเครื่องจักรในเดือนที่แล้ว จึงมีผลทำให้การผลิตในเดือนขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 7.19 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 32.45 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 25.61
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2549 เทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของเหล็กทุกตัวมีการปรับตัวที่สูงขึ้น ดังนี้ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น จาก 313 เป็น 387 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.64 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 472 เป็น 527 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.65 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น จาก 557 เป็น 595 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.82 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้น จาก 355 เป็น 377 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.20 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น จาก 410 เป็น 421 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.68
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน พ.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อที่อยู่อาศัยออกไป สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการขยายตลาดส่งออก จึงมีผลทำให้การผลิตเหล็กประเภทนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
5. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2549 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน ปริมาณการผลิตจึงลดลงจากเดือนก่อน ประกอบกับ ผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้เร่งการส่งออกรถยนต์ไปในเดือนมีนาคมแล้ว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 85,166 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 116,298 คัน ร้อยละ 26.77 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 10.64
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 53,560 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 66,101 คัน ร้อยละ 18.97 และลดลงจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 4.22 การชะลอตัวของปริมาณการจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปีที่ผ่านมาดังกล่าว ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และสถานการณ์การเมืองของประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในทางจิตวิทยา โดยทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อ
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 35,972 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 53,578 คัน ร้อยละ 32.86 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 18.69 - แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีแนวโน้มขยายตัว โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 103,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 55 ส่งออกร้อยละ 45 ของปริมาณการผลิต
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดมาก ทำให้ในเดือนเมษายนของทุกปี การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ชะลอตัวลง ประกอบกับ ผู้ผลิตได้เร่งผลิตและจำหน่ายไปในเดือนมีนาคม เพื่อปิดยอดในไตรมาสแรก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 150,725 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 220,757 คัน ร้อยละ 31.72 และลดลงจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 6.02
- การจำหน่าย จำนวน 156,602 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 213,586 คัน ร้อยละ 26.68 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 19.42 ทั้งนี้ การขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนเมษายนในปีที่ผ่านมาดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญที่มากระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค กล่าวคือ ผู้ผลิตได้มีการพัฒนารถจักรยานยนต์แบบสกู๊ตเตอร์รุ่นใหม่ๆ นำออกสู่ตลาด ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมาก
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 8,657 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 12,005 คัน ร้อยละ 27.89 และลดลงจากเดือนเมษายน 2548 ร้อยละ 21.26
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีแนวโน้มขยายตัว โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 203,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 95 ส่งออกร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิต
6.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนเมษายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 5.97 เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้จำนวนวัน ทำงานลดลง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.31 เนื่องจากผู้ประกอบการได้ขยายการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนเมษายน2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.99 และ 42.23 เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
3.แนวโน้ม
ในเดือนพฤษภาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนที่มีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ สำหรับในเดือนมิถุนายน 2549 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะลดลงเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้การก่อสร้างเริ่มชะลอตัว ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
7. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ภาวะการผลิตของเดือนเมษายน 2549 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยปรับลดลงทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวัน และได้มีการเร่งผลิตในช่วงต้นปี โดยมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ทางด้านการส่งออก ลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนก่อน”
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน เม.ย. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 38,253 -22 15
IC 19,514 -15 35
เครื่องปรับอากาศ 7,565 -29 -2
ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ 6,195 109 148
เครื่องรับโทรทัศน์สี 4,995 -7 13
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนเมษายน 2549 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 20 โดยเป็นการปรับลดลงทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลเนื่องจากในเดือนเมษายนจะมีวันหยุดยาวเป็นเวลาหลายวันและส่วนหนึ่งเร่งการผลิตไว้ก่อนในช่วงต้นปี ทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังค่อนข้างสูง เพียงพอต่อคำสั่งซื้อในเดือนนี้ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 โดยมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนเมษายนมีมูลค่า 117,872 ล้านบาทลดลงถึงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งมีลดลงในสินค้าเกือบทุกรายการ แต่กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 19,874 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ภาพและเสียง คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เป็นต้น สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 42,358 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 21 จากเดือนก่อน และลดลงเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่มีการส่งออกลดลงในเดือนเมษายน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ส่วนสินค้าไฟฟ้าที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสฟุตบอลโลกที่จะมาถึงนี้ สำหรับสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 75,514 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยลดลงในเกือบทุกรายการ ยกเว้น ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ที่มีมูลค่า 6,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 109 และร้อยละ 148 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจาก ความต้องการในตลาดฮ่องกงที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก
3. แนวโน้ม
ภาวการณ์ผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม 2549 ชะลอตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน รวมทั้งผลของค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยแนวโน้มการผลิตและขายในช่วงไตรมาส 2 จะลดลงเล็กน้อย และจะเริ่มผลิตมากในช่วงไตรมาส 3 ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก การขยายตัวของความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลก โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2549 มีค่า 147.77 ลดลงจากเดือนมีนาคม (178.64) ร้อยละ 17.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (140.71) ร้อยละ 5.0
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนเมษายน 2549 มีค่า 63.17 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 (73.03) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (63.54)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทดสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนเมษายน2549
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2549 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 319 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 472 รายหรือน้อยกว่าร้อยละ -32.4 ในส่วนของจำนวนเงินลงทุน มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,998.14 ล้านบาทลดลงจากเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 13,488.49 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -25.9 แต่มีการจ้างงานรวม 12,274 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2549 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,873 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนเมษายน 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 486 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ