ต้องเร่งสร้าง ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก
โดย อภิชาต ศักดิเศรษฐ์
เหตุผล 4 ข้อในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังเป็นความคลุมเครือในใจประชาชนคนไทยจนกระทั่งต้องกลับมาตั้งต้นอธิบายกันใหม่อีกหรือ?
ผู้เขียนตั้งคำถามนี้ขึ้นมาด้วยความงุนงงและไม่สบายใจ หลังจากได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลว่า ไม่อธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนให้ถ่องแท้ถึงเหตุผลในการทำรัฐประหาร จนทำให้เกิดกระแสคลื่นใต้น้ำลูกแล้วลูกเล่าอยู่ในขณะนี้
ยิ่งในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันแถลงนโยบายรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทบทุกคนที่ลุกขึ้นอภิปราย ต่างเรียกร้องซ้ำๆ ในสิ่งนี้กันแบบไม่รู้จักจบสิ้น
แท้จริงแล้วเหตุผล 4 ข้อยังไม่เพียงพออีกหรือ?
ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า เหตุผล 4 ข้อนั้น มีความแจ่มชัดในตัวอยู่แล้ว ทั้งจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ และทั้งจากปรากฏการณ์ที่ประชาชนได้ผ่านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาตลอดช่วงหลายเดือนก่อนการรัฐประหาร
ทั้งเรื่องความแตกแยกของคนในชาติ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ขยายวงกว้างขวาง เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระจนระบบการถ่วงดุล ตรวจสอบต้องพิกลพิการ และเรื่องภาวะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน ล้วนแต่ชัดเจนจนแทบจะสำลักข้อมูลกันอยู่แล้ว
ถ้านอนหลับไม่รู้ คุดคู้ไม่เห็น หรือไม่ใช่พวกพ้องบริวาร เป็นพวกทาสในเรือนเบี้ยของรัฐบาลที่แล้ว เชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินในประเทศนี้ที่จะกังขากับความจำเป็นในการทำรัฐประหารตามข้ออ้างเหตุผลทั้ง 4 ข้อ เพราะเพียงพอที่จะเป็นเหตุผลในการที่จะอนุญาตให้ประเทศนี้ต้องกลับมาวางรากฐานระบบการเมืองการปกครองกันใหม่
เหตุผลในการทำรัฐประหารจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาทบทวนกันในวาระนี้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่มีสถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายภายในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน เกิดมีความพยายามก่อกระแสบางอย่าง เพื่อรองรับการหวนกลับคืนสู่อำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า เกิดขบวนการดิสเครดิตการทำรัฐประหารและการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างเป็นกระบวนการ ทำให้การดำรงอยู่ของ คมช. ของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งกฎระเบียบที่ออกโดย คมช.ถูกลดทอนความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว
ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มไม่สบายใจ และส่งเสียงเรียกร้องให้ คมช.และรัฐบาลปรับตัวจากภาวะการตั้งรับที่นับวันจะถอยกรูด มาเป็นการทำงานในเชิงรุก ช่วงชิงมวลชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับสาธารณชนถึงความเลวร้ายของการเมืองระบอบเก่า หรือที่เรียกกันทั่วไปในนาม "ระบอบทักษิณ" ที่ยังคงซ่อนเร้นเกาะกินประเทศอยู่อย่างกว้างขวาง
ลำพังแค่จะไปตั้งหลักอธิบายซ้ำๆ กับเหตุผล 4 ข้อเดิมนั้น ไม่เพียงพอแล้ว วันนี้สถานการณ์เรียกร้องมากกว่านั้น
คมช.และรัฐบาลต้องรุกเข้าไปจัดการและตีแผ่ความเลวร้ายของการเมืองระบบเก่าอย่างรวดเร็ว ถี่กระชั้น และเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายเท่าตัว
ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า ระบอบทักษิณสร้างบาดแผลอะไรไว้กับประเทศนี้บ้าง
แล้วจะทำกันอย่างไร? ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้
หนึ่ง, คมช.และรัฐบาลต้องระดมใช้กลไกรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกส่วนต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือการลุกขึ้นมาชำระล้างความเลวร้ายทั้ง 4 ประเด็น อย่างขุดรากถอนโคน
ต้องให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และทุกกลไกรัฐ ร่วมในขบวนการชำระล้างนี้อย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ
ต้องไม่ลืมว่า ระบอบทักษิณใช้กลไกรัฐ โดยเฉพาะข้าราชการประจำมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อคุณธรรม จริยธรรมมากมาย โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่น และการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องบริวารของฝ่ายการเมือง วันนี้มีแต่เพียงคนทำงานในภาคประชาชนเท่านั้น ที่ลุกขึ้นมาแฉความเลวร้าย นำข้อมูลหลักฐานที่เสาะแสวงหามาได้อย่างจำกัด นำเสนอเข้าสู่กระบวนการจัดการ แต่กลับไม่เคยเห็นความกระตือรือร้นจากคนในภาคราชการหรือกลไกรัฐที่มีข้อมูลหลักฐาน เข้ามาร่วมล้างบาปเหล่านี้แต่อย่างใด
คนในกลไกรัฐยังคงนิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอฉันมีตำแหน่งและสถานะที่พอใจอยู่ก็พอแล้ว ซ้ำร้ายยังมีเป็นจำนวนมากที่ช่วยปกปิด-ปกป้องความเลวร้ายดังกล่าวไว้อีกต่างหาก
เพราะความไม่เด็ดขาด ความไม่กล้าใช้กลไกรัฐในการจัดการกับสิ่งเลวร้ายเหล่านี้นี่แหละที่นับวันจะทำให้ คมช.และรัฐ ล้มเหลวในการชำระล้างสิ่งเลวร้ายในแผ่นดิน สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนในสังคม แถมยังจะมีหอกข้างแคร่ที่ไม่น่าไว้วางใจมากขึ้นเรื่อยๆ
สอง, "บทเรียน" ที่ประเทศชาติและประชาชนได้รับจากระบอบทักษิณนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องจดจำ และพึงสังวรกันทั้งประเทศ ว่าจะต้องไม่ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะเช่นนั้นอีก
วันนี้ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยชักลืมๆ ไปแล้ว หรือมีคนพยายามจะสร้างกระแสให้ลืมว่า ระบอบทักษิณฉุดคร่าพาประเทศไปย่ำยีอย่างไรไว้บ้าง หลายคนทำท่าจะอภัยให้ด้วยซ้ำ ด้วยการยกคำว่า "สมานฉันท์" มาอ้าง บอกว่าเคยทำผิดพลาดบกพร่องอย่างไรไว้ก็ลืมๆ กันไป เพราะล้วนแต่ไทยด้วยกัน ตั้งต้นใหม่กันดีกว่า นี่เป็นเรื่องน่าห่วงมาก
ถ้าทุกอย่างจบลงด้วยการลืมๆ กันไป ไม่มีใครต้องรับผิด รับโทษ โกงแล้วก็แล้วกันไป ขายชาติกันไปแล้วก็แล้วกันไป บริหารผิดพลาดจนผู้คนล้มตายไปเป็นพันเป็นหมื่นไปแล้วก็แล้วกันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เชื่อเถิดว่า อนาคตอันใกล้ของประเทศนี้จะต้องกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤต ยุ่งเหยิง และจะสูญเสียกันมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะคาดถึงกันแน่นอน
คมช.และรัฐบาลต้องทำให้บทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่ไม่มีวันลืมของคนไทยทั้งชาติ ให้เหมือนกับที่สังคมจีนเคยเข็ดขยาดและปวดร้าวกับบาดแผลที่เกิดจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ในปลายยุค "เหมา เจ๋อ ตุง"
จดจำเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ความเลวร้ายนั้น หวนกลับมาทำร้ายเราอีก?
สาม, การกล่อมเกลาจิตสำนึกทางการเมืองการปกครอง และปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้กับคนในสังคม อาจมีเครื่องมือหลากหลาย ทั้งกลไกระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา กลไกผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือกลไกราชการที่ทำงานมวลชนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ฯลฯ
แต่ต้องยอมรับว่า ในภาวะเร่งด่วน และภายใต้สภาพสังคมที่สลับซับซ้อน สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญมาก รัฐต้องใช้สื่อมวลชนในการทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างมีแบบแผน ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการใช้สื่อ โดยเฉพาะสื่อมวลชนของรัฐในปฏิบัติการที่สำคัญนี้ ไม่ทำไม่ได้อีกแล้ว
ผู้เขียนตกใจที่เห็นเว็บไซต์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ๆ ภายในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ปฏิบัติการเป็นกระบอกเสียง และเครือข่ายให้กับกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเปิดเผย โจ่งแจ้ง เนื้อหาสนับสนุนการกลับเข้าสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต่อต้านการทำงานของ คมช.และรัฐบาลอย่างสุดขั้ว
อย่างกรณีคนขับแท็กซี่ผูกคอตาย ปรากฏว่าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง โหมเผยแพร่ข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้าน คมช.อย่างคึกคัก ชูธงล้ม คมช.และรัฐบาลนี้แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
แปลกใจ ที่สิ่งเหล่านี้ถูกปล่อยเป็นเสี้ยนหนามให้ทิ่มตำอยู่ได้ ไม่มีใครกล้าเอาเป็นธุระไปจัดการ หรือตอบโต้ชี้แจงอย่างเอาจริงเอาจัง
สถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นสิบๆ แห่ง รวมถึงสื่อโทรทัศน์ของรัฐเอง ที่อาศัยความไม่เข้มงวดของ คมช.และรัฐบาล ฉวยโอกาสทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มอำนาจเก่าเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลเก่ายังเรืองอำนาจเกิดอะไรขึ้นหรือ?
ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ สื่อมวลชนของรัฐ ต้องได้รับการบริหารจัดการที่เหมาะสม และต้องให้มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนแปลกใจที่ไม่เห็นมีคนทำงานในองค์กรสื่อของรัฐหรือผู้บริหารสื่อของรัฐ คิดจะจัดทำรายการเปิดโปงความเสียหาย ความเลวร้ายของระบอบการเมืองเก่า มาตีแผ่ให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรที่มีฝีมือ มีคุณภาพในองค์กรสื่อของรัฐอยู่มากมาย
เราจะสร้างความสมานฉันท์บนพื้นฐานที่ประชาชนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และสังคมเกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร เราจะไม่ให้เกิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างไร จิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริตจะต้องถูกปลูกฝังอยู่ในมโนสำนึกของผู้คนทุกเพศ ทุกวัยในประเทศนี้ จะทำกันได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโจทย์ที่จะต้องเชิญชวนให้สังคมร่วมกันคิด และตระหนักร่วมกันโดยมีสื่อมวลชนเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการเป็นหัวหอกช่วยกล่อมเกลา
รัฐต้องกล้าที่จะใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อความสงบสุขสันติของผู้คนในสังคม เพราะนี่คือภารกิจหนึ่งของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่จะต้องช่วยประคองประเทศให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว วันนี้ หัวใจในการประคับประคองสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการทำงานของ คมช.และรัฐบาลจึงอยู่ตรงที่ความกล้าหาญ ความเด็ดขาด และความเอาจริงเอาจังในการตอกย้ำบทเรียนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีเศษ ให้สังคมได้เกิดสำนึกร่วมกัน
คนทั้งประเทศได้รู้ได้เห็นและมีสำนึกร่วมกันเมื่อไหร่ นั่นแหละถึงจะเกิด "ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" เป็นปราการช่วยต่อสู้กับอำนาจเก่า อิทธิพลเถื่อนที่กำลังพยายามจะฟื้นตัวขึ้นมาได้
ถ้าวางหลักตรงนี้ได้ ก็เบาใจได้ว่า คลื่นใต้น้ำทั้งหลายทั้งปวง ที่แลดูท่าน่าหวาดกลัวในวันนี้ เป็นแค่เรื่องขี้ผง
(หมายเหตุ - ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2549)
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 13 พ.ย. 2549--จบ--
โดย อภิชาต ศักดิเศรษฐ์
เหตุผล 4 ข้อในการทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังเป็นความคลุมเครือในใจประชาชนคนไทยจนกระทั่งต้องกลับมาตั้งต้นอธิบายกันใหม่อีกหรือ?
ผู้เขียนตั้งคำถามนี้ขึ้นมาด้วยความงุนงงและไม่สบายใจ หลังจากได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลว่า ไม่อธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนให้ถ่องแท้ถึงเหตุผลในการทำรัฐประหาร จนทำให้เกิดกระแสคลื่นใต้น้ำลูกแล้วลูกเล่าอยู่ในขณะนี้
ยิ่งในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันแถลงนโยบายรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทบทุกคนที่ลุกขึ้นอภิปราย ต่างเรียกร้องซ้ำๆ ในสิ่งนี้กันแบบไม่รู้จักจบสิ้น
แท้จริงแล้วเหตุผล 4 ข้อยังไม่เพียงพออีกหรือ?
ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า เหตุผล 4 ข้อนั้น มีความแจ่มชัดในตัวอยู่แล้ว ทั้งจากประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฯ และทั้งจากปรากฏการณ์ที่ประชาชนได้ผ่านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาตลอดช่วงหลายเดือนก่อนการรัฐประหาร
ทั้งเรื่องความแตกแยกของคนในชาติ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ขยายวงกว้างขวาง เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระจนระบบการถ่วงดุล ตรวจสอบต้องพิกลพิการ และเรื่องภาวะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน ล้วนแต่ชัดเจนจนแทบจะสำลักข้อมูลกันอยู่แล้ว
ถ้านอนหลับไม่รู้ คุดคู้ไม่เห็น หรือไม่ใช่พวกพ้องบริวาร เป็นพวกทาสในเรือนเบี้ยของรัฐบาลที่แล้ว เชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินในประเทศนี้ที่จะกังขากับความจำเป็นในการทำรัฐประหารตามข้ออ้างเหตุผลทั้ง 4 ข้อ เพราะเพียงพอที่จะเป็นเหตุผลในการที่จะอนุญาตให้ประเทศนี้ต้องกลับมาวางรากฐานระบบการเมืองการปกครองกันใหม่
เหตุผลในการทำรัฐประหารจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาทบทวนกันในวาระนี้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่มีสถานการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายภายในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน เกิดมีความพยายามก่อกระแสบางอย่าง เพื่อรองรับการหวนกลับคืนสู่อำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า เกิดขบวนการดิสเครดิตการทำรัฐประหารและการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อย่างเป็นกระบวนการ ทำให้การดำรงอยู่ของ คมช. ของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งกฎระเบียบที่ออกโดย คมช.ถูกลดทอนความชอบธรรมลงอย่างรวดเร็ว
ตรงนี้เองที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มไม่สบายใจ และส่งเสียงเรียกร้องให้ คมช.และรัฐบาลปรับตัวจากภาวะการตั้งรับที่นับวันจะถอยกรูด มาเป็นการทำงานในเชิงรุก ช่วงชิงมวลชนอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับสาธารณชนถึงความเลวร้ายของการเมืองระบอบเก่า หรือที่เรียกกันทั่วไปในนาม "ระบอบทักษิณ" ที่ยังคงซ่อนเร้นเกาะกินประเทศอยู่อย่างกว้างขวาง
ลำพังแค่จะไปตั้งหลักอธิบายซ้ำๆ กับเหตุผล 4 ข้อเดิมนั้น ไม่เพียงพอแล้ว วันนี้สถานการณ์เรียกร้องมากกว่านั้น
คมช.และรัฐบาลต้องรุกเข้าไปจัดการและตีแผ่ความเลวร้ายของการเมืองระบบเก่าอย่างรวดเร็ว ถี่กระชั้น และเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่อีกหลายเท่าตัว
ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า ระบอบทักษิณสร้างบาดแผลอะไรไว้กับประเทศนี้บ้าง
แล้วจะทำกันอย่างไร? ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้
หนึ่ง, คมช.และรัฐบาลต้องระดมใช้กลไกรัฐที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกส่วนต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือการลุกขึ้นมาชำระล้างความเลวร้ายทั้ง 4 ประเด็น อย่างขุดรากถอนโคน
ต้องให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และทุกกลไกรัฐ ร่วมในขบวนการชำระล้างนี้อย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ
ต้องไม่ลืมว่า ระบอบทักษิณใช้กลไกรัฐ โดยเฉพาะข้าราชการประจำมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อคุณธรรม จริยธรรมมากมาย โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่น และการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องบริวารของฝ่ายการเมือง วันนี้มีแต่เพียงคนทำงานในภาคประชาชนเท่านั้น ที่ลุกขึ้นมาแฉความเลวร้าย นำข้อมูลหลักฐานที่เสาะแสวงหามาได้อย่างจำกัด นำเสนอเข้าสู่กระบวนการจัดการ แต่กลับไม่เคยเห็นความกระตือรือร้นจากคนในภาคราชการหรือกลไกรัฐที่มีข้อมูลหลักฐาน เข้ามาร่วมล้างบาปเหล่านี้แต่อย่างใด
คนในกลไกรัฐยังคงนิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอฉันมีตำแหน่งและสถานะที่พอใจอยู่ก็พอแล้ว ซ้ำร้ายยังมีเป็นจำนวนมากที่ช่วยปกปิด-ปกป้องความเลวร้ายดังกล่าวไว้อีกต่างหาก
เพราะความไม่เด็ดขาด ความไม่กล้าใช้กลไกรัฐในการจัดการกับสิ่งเลวร้ายเหล่านี้นี่แหละที่นับวันจะทำให้ คมช.และรัฐ ล้มเหลวในการชำระล้างสิ่งเลวร้ายในแผ่นดิน สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนในสังคม แถมยังจะมีหอกข้างแคร่ที่ไม่น่าไว้วางใจมากขึ้นเรื่อยๆ
สอง, "บทเรียน" ที่ประเทศชาติและประชาชนได้รับจากระบอบทักษิณนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องจดจำ และพึงสังวรกันทั้งประเทศ ว่าจะต้องไม่ให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะเช่นนั้นอีก
วันนี้ดูเหมือนคนจำนวนไม่น้อยชักลืมๆ ไปแล้ว หรือมีคนพยายามจะสร้างกระแสให้ลืมว่า ระบอบทักษิณฉุดคร่าพาประเทศไปย่ำยีอย่างไรไว้บ้าง หลายคนทำท่าจะอภัยให้ด้วยซ้ำ ด้วยการยกคำว่า "สมานฉันท์" มาอ้าง บอกว่าเคยทำผิดพลาดบกพร่องอย่างไรไว้ก็ลืมๆ กันไป เพราะล้วนแต่ไทยด้วยกัน ตั้งต้นใหม่กันดีกว่า นี่เป็นเรื่องน่าห่วงมาก
ถ้าทุกอย่างจบลงด้วยการลืมๆ กันไป ไม่มีใครต้องรับผิด รับโทษ โกงแล้วก็แล้วกันไป ขายชาติกันไปแล้วก็แล้วกันไป บริหารผิดพลาดจนผู้คนล้มตายไปเป็นพันเป็นหมื่นไปแล้วก็แล้วกันไป ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เชื่อเถิดว่า อนาคตอันใกล้ของประเทศนี้จะต้องกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤต ยุ่งเหยิง และจะสูญเสียกันมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะคาดถึงกันแน่นอน
คมช.และรัฐบาลต้องทำให้บทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่ไม่มีวันลืมของคนไทยทั้งชาติ ให้เหมือนกับที่สังคมจีนเคยเข็ดขยาดและปวดร้าวกับบาดแผลที่เกิดจากการปฏิวัติวัฒนธรรม ในปลายยุค "เหมา เจ๋อ ตุง"
จดจำเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ความเลวร้ายนั้น หวนกลับมาทำร้ายเราอีก?
สาม, การกล่อมเกลาจิตสำนึกทางการเมืองการปกครอง และปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้กับคนในสังคม อาจมีเครื่องมือหลากหลาย ทั้งกลไกระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา กลไกผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น หรือกลไกราชการที่ทำงานมวลชนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ฯลฯ
แต่ต้องยอมรับว่า ในภาวะเร่งด่วน และภายใต้สภาพสังคมที่สลับซับซ้อน สื่อมวลชนจะมีบทบาทสำคัญมาก รัฐต้องใช้สื่อมวลชนในการทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างมีแบบแผน ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการใช้สื่อ โดยเฉพาะสื่อมวลชนของรัฐในปฏิบัติการที่สำคัญนี้ ไม่ทำไม่ได้อีกแล้ว
ผู้เขียนตกใจที่เห็นเว็บไซต์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นใหม่ๆ ภายในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ปฏิบัติการเป็นกระบอกเสียง และเครือข่ายให้กับกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเปิดเผย โจ่งแจ้ง เนื้อหาสนับสนุนการกลับเข้าสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต่อต้านการทำงานของ คมช.และรัฐบาลอย่างสุดขั้ว
อย่างกรณีคนขับแท็กซี่ผูกคอตาย ปรากฏว่าเว็บไซต์แห่งหนึ่ง โหมเผยแพร่ข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้าน คมช.อย่างคึกคัก ชูธงล้ม คมช.และรัฐบาลนี้แบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
แปลกใจ ที่สิ่งเหล่านี้ถูกปล่อยเป็นเสี้ยนหนามให้ทิ่มตำอยู่ได้ ไม่มีใครกล้าเอาเป็นธุระไปจัดการ หรือตอบโต้ชี้แจงอย่างเอาจริงเอาจัง
สถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นสิบๆ แห่ง รวมถึงสื่อโทรทัศน์ของรัฐเอง ที่อาศัยความไม่เข้มงวดของ คมช.และรัฐบาล ฉวยโอกาสทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มอำนาจเก่าเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลเก่ายังเรืองอำนาจเกิดอะไรขึ้นหรือ?
ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้ สื่อมวลชนของรัฐ ต้องได้รับการบริหารจัดการที่เหมาะสม และต้องให้มีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนแปลกใจที่ไม่เห็นมีคนทำงานในองค์กรสื่อของรัฐหรือผู้บริหารสื่อของรัฐ คิดจะจัดทำรายการเปิดโปงความเสียหาย ความเลวร้ายของระบอบการเมืองเก่า มาตีแผ่ให้ความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรที่มีฝีมือ มีคุณภาพในองค์กรสื่อของรัฐอยู่มากมาย
เราจะสร้างความสมานฉันท์บนพื้นฐานที่ประชาชนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และสังคมเกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร เราจะไม่ให้เกิดช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างไร จิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริตจะต้องถูกปลูกฝังอยู่ในมโนสำนึกของผู้คนทุกเพศ ทุกวัยในประเทศนี้ จะทำกันได้อย่างไร
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโจทย์ที่จะต้องเชิญชวนให้สังคมร่วมกันคิด และตระหนักร่วมกันโดยมีสื่อมวลชนเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการเป็นหัวหอกช่วยกล่อมเกลา
รัฐต้องกล้าที่จะใช้สื่อสารมวลชนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อความสงบสุขสันติของผู้คนในสังคม เพราะนี่คือภารกิจหนึ่งของวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่จะต้องช่วยประคองประเทศให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้
กล่าวโดยสรุปแล้ว วันนี้ หัวใจในการประคับประคองสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการทำงานของ คมช.และรัฐบาลจึงอยู่ตรงที่ความกล้าหาญ ความเด็ดขาด และความเอาจริงเอาจังในการตอกย้ำบทเรียนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีเศษ ให้สังคมได้เกิดสำนึกร่วมกัน
คนทั้งประเทศได้รู้ได้เห็นและมีสำนึกร่วมกันเมื่อไหร่ นั่นแหละถึงจะเกิด "ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" เป็นปราการช่วยต่อสู้กับอำนาจเก่า อิทธิพลเถื่อนที่กำลังพยายามจะฟื้นตัวขึ้นมาได้
ถ้าวางหลักตรงนี้ได้ ก็เบาใจได้ว่า คลื่นใต้น้ำทั้งหลายทั้งปวง ที่แลดูท่าน่าหวาดกลัวในวันนี้ เป็นแค่เรื่องขี้ผง
(หมายเหตุ - ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2549)
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 13 พ.ย. 2549--จบ--