รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน มิ.ย. 49

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2006 16:39 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มิถุนายน 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2549 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 115.1 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2549 เท่ากับ 115.1 เช่นกัน
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
2.2 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.9
2.3 เทียบเฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2549) กับช่วงเดียวกันของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 5.9
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) แสดงถึง
แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้ออ่อนตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญที่มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครี่องดื่มลดลงร้อยละ 1.1 แต่ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 สาเหตุหลักยังคงเป็นดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ถึงแม้จะเป็นอัตราที่น้อยกว่าเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.8)
" ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.1 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีราคาผักสดร้อยละ 13.7 โดยเฉพาะ มะนาว ลดลงร้อยละ 64.0 ผลไม้สดลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางชนิดที่มีราคาลดลงได้แก่ ไก่สด นมข้นหวาน ครีมเทียม และน้ำมันพืช เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และไข่ไก่
" ดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.5 ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 2.4 ค่ากระแสไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีการปรับค่า Ft สูงขึ้น 9.60 สตางค์ต่อหน่วย ค่าโดยสารเครื่องบิน (ภายในประเทศ) สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ผลจากการที่ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากมาตรการธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ส่งผลให้สินค้าหลายชนิดมีราคาลดลงได้แก่ น้ำมันใส่ผม ครีมนวดผม น้ำยาปรับผ้านุ่ม แปรงสีฟัน และผ้าอนามัย เป็นต้น
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนมิถุนายน 2548 ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงร้อยละ 5.9 (พฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 6.2) จากการสูงขึ้น ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 4.6 (พฤษภาคมสูงขึ้นร้อยละ 5.7) หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 6.6
5. ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.9 สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 6.7 ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นเพียงร้อยละ 4.6
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 104.8 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนพฤษภาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.1
6.2 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.7
6.3 ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 (มกราคม - มิถุนายน 2549) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 สูงขึ้นร้อยละ 2.7
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ