ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พฤษภาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2549 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคม 2549
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2549 เท่ากับ 139.4
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนเมษายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.0
2.2 เดือนพฤษภาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 11.6
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2549 โดยเฉลี่ยยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจาก
เดือนเมษายนแต่ในอัตราลดลงคือ ร้อยละ 2.0 (เดือนเมษายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.9) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 0.2, 5.8 และ 2.2 ตามลำดับ
การสูงขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตดังกล่าว มีผลจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เช่น ยางพารา ดอกกล้วยไม้ และไก่สด นอกจากนั้น การสูงขึ้นของต้นทุนผลิต ซึ่งมีผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุดิบ ทำให้สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น เช่น เหล็กเส้น ท่อเหล็ก เม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ ไม้วีเนียร์ ทองคำ และเครื่องประดับ
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนพฤษภาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2548
สูงขึ้นร้อยละ 11.6 มีผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 23.7, 27.3 และ 9.1 ตามลำดับ
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 23.7 สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ยางพารา จากความต้องการของตลาดต่างประเทศ
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 27.3 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และแร่สังกะสี เป็นสำคัญ
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.1 สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน และทองคำ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์