ผลการสัมมนาโครงการศึกษาร่วมไทย-ชิลีถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 6, 2006 14:41 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

        กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จัดการสัมมนาโครงการศึกษาร่วมไทย-ชิลีถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา และรับฟังข้อคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยได้เชิญผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สถานทูตชิลีประจำประเทศไทย Mr. Fausto J. Izquiel มาพูดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของชิลี นโยบายการค้า การลงทุน การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ การค้าระหว่างไทยกับชิลี และโอกาสทางการค้าในชิลี ดร.สมจินต์ สันถวรักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา และ ดร. พรเพ็ญ วรสิทธา อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมาพูดถึงผลของการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 
1. รายการสินค้าที่มีการค้าขายกันตามปกติ หากมีการลดอัตราภาษีให้เหลือ 0 ระหว่างกัน จะช่วยให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 21.14 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2005 ซึ่งส่งออก 125.91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ ข้าว สับปะรด เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับการนำเข้า จะทำให้ไทยนำเข้าจากชิลีเพิ่มขึ้น 117.67 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2005 ซึ่งนำเข้า 160.98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ ของปรุงแต่งที่ทำจากพืช ผัก และผลไม้ เยื่อกระดาษ และอาหารสัตว์ เป็นต้น
2. สำหรับรายการสินค้าที่ไทยและชิลีไม่เคยมีการค้ากันมาก่อนพบว่า การลดอัตราภาษีให้เหลือ 0 ระหว่างกัน จะช่วยให้ไทยส่งออกไปชิลีเพิ่มขึ้น 88.83-217.53 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเพิ่มขึ้น 84.84-173.11 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกไปชิลี ได้แก่ ข้าว สับปะรด ยางพารา ทูน่ากระป๋อง ส่วนประกอบรถยนต์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก
3. ไทยและชิลีมีลักษณะทางเศรษฐกิจที่เสริมซึ่งกันและกัน (Complementary) ได้เป็นอย่างดี สินค้าที่ไทยนำเข้าจากชิลีส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เช่น สินแร่โลหะ(ทองแดง) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกไปชิลีจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
4. หากทั้งสองประเทศมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันแล้ว จะทำให้การค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การที่ทั้งสองประเทศมีระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนการขนส่งที่ดี จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถเป็นประตูเชื่อมการค้าระหว่างเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กับละตินอเมริกาได้ในอนาคต
ผลการสัมมนา นักวิชาการและผู้แทนจากภาคเอกชนไทยได้ให้การสนับสนุนผลการศึกษาร่วมไทย-ชิลี โดยเห็นว่าชิลี แม้เป็นประเทศเล็ก แต่เป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ มีทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับสินค้าไทยได้ นอกจากนี้ธุรกิจด้านสปา โดยเฉพาะการนวดแผนไทย มีความน่าสนใจที่จะไปลงทุนในชิลี เนื่องจากความเข้มงวดของกฎระเบียบมีไม่มาก สำหรับร้านอาหารไทย มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะร้านอาหารที่เน้นกลุ่มลูกค้าในระดับบน จะสร้างรายได้ดีกว่าร้านอาหารแบบ Fast food เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้ จะเดินทางไปต่างประเทศบ่อย จึงมีความคุ้นเคยและรู้จักอาหารไทยดี
ทั้งนี้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับชิลีในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2549 มีมูลค่า 277 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 40 โดยจำแนกเป็นมูลค่าที่ไทยส่งออกไปยังชิลี 140 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 และมูลค่านำเข้าจากชิลี 137 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าชิลี 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ