วิเคราะห์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2005 14:41 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้คร่าชีวิตประชาชนของประเทศผู้ประสบภัยไปราว 200,000 คน ในขณะที่มีปัญหาด้านความช่วยเหลือแก่ผู้รอดชีวิตในที่ต่างๆเกิดขึ้นนั้น กลับปรากฏว่าภัยพิบัติดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแต่ละประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ไม่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในภูมิภาค
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศที่ประสบภัยในภูมิภาคอาเซียน
การคาดการณ์ผลกระทบของเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิต่อ GDP ในปี 2548
ของประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ประเทศที่ประสบภัย ผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของ GDP
อินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 0.1-0.2 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5
ศรีลังกา มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.0
อินเดีย ไม่กระทบ
ไทย ลดลงร้อยละ 0.5 อยู่ที่ร้อยละ 4.5
ที่มา : Economist Intelligence Unit, January 10th 2005, Vol 13 No. 1
- อินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 150,000 ราย ในขณะที่จังหวัดอาเจห์ซี่งเป็นศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ใน GDP ของอินโดนีเซีย ประกอบกับโรงงาน LNG (Liquefied Natural Gas) ทางชายฝั่งภาคเหนือของประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด รวมทั้งอินโดนีเซียยังได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และการขยายเวลาการชำระคืนหนี้ของประเทศเจ้าหนี้สำคัญออกไป ดังนั้น ผลกระทบต่อ GDP ของอินโดนีเซียจึงมีเพียงร้อยละ 0.1-0.2 ทำให้คาดว่า GDP จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5 ในปี 2548
- ศรีลังกา คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 5.0 ในปี 2548 โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้านชายฝั่งตะวันออกของประเทศที่ได้รับความเสียหายมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซียจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยเช่นเดียวกับบังกลาเทศ และเมียนมาร์ ขณะที่อินเดียจะไม่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเล อันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง สตูล และระนอง ผลกระทบที่มีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะมีมากกว่าอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าไทยได้รับความเสียหายน้อยกว่า เนื่องจากคลื่นยักษ์สึนามิเกิดในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทยในช่วงที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนใน GDP มากถึงร้อยละ 6-7 ซึ่งถือได้ว่ามีความสำคัญมาก
การประเมินผลกระทบจากสึนามิต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ของสำนักต่างๆ
สำนัก ผลกระทบต่อ GDP อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(ร้อยละ) ปี 2548 (ร้อยละ)
สศค. -0.3 6.1
สศช. 5.5-6.5
ธปท. -1.3 4.2-5.2
ศูนย์วิจัยกสิกร -0.5 5.0-5.5
เจพี มอร์แกน -0.4 4.6-4.9
มอร์แกน สแตนเลย์ -0.3 5.7
ม.หอการค้าไทย -0.3 5.2-5.8
ซิตี้ กรุ๊ป +2.5
Economist Intelligence Unit -0.5 4.5
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ EIU, มกราคม 2548
- สศช.ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้ว่าไม่กระทบต่อ GDP เพราะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น และจากการที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จะทำให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง สศช. ได้ประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 0.48 แต่การอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.63 ผลสุทธิที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 ดังนั้น สศช. จึงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ไว้ในช่วงร้อยละ 5.5-6.5 เช่นเดิม
- แม้ว่าผลกระทบต่อ GDP ของไทยจะมีน้อย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะครอบคลุมทั้งระบบเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่แม้บางผลกระทบจะไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิโดยตรง แต่ส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรง เช่น การบริโภคในประเทศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมประมง และการว่างงาน เป็นต้น
- การบริโภคภายในประเทศจะลดลงในบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อะไหล่และส่วนประกอบ เป็นต้น เนื่องจากความสามารถในการหารายได้ของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะลดลง ส่งผลให้อำนาจซื้อลดลง จะกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอื่นๆให้มียอดขายลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ขนาดเศรษฐกิจของ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีการบริโภคมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50-55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) แต่ละจังหวัด
- ภาวะเงินเฟ้อ มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำ ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการชะงักงันของ อุปทานและภาคการผลิต ตลอดจนการก่อสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศขนานใหญ่อาจดึงให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ มีราคาสูงขึ้น แต่เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มกังวลเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำมากขึ้นจึงชะลอการบริโภคลงดังกล่าว ราคาสินค้าจึงไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากนัก และกระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อทั้งปี 2548 อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.5-3.5 จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ร้อยละ 3.0-3.5
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลกระทบของเหตุการณ์คลื่นสึนามิต่อการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดภาคใต้ลดลงร้อยละ 40-50 เนื่องจากเหตุการณ์เกิดในช่วง high season ทั้งนี้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยที่มาจาก 6 จังหวัดดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งสิ้นของประเทศ
- อุตสาหกรรมการประมง โรงเพาะพันธุ์กุ้งของไทยได้รับความเสียหายกว่าร้อยละ 60 ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การเลี้ยงกุ้งชะลอตัว ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกุ้งมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีการส่งออกประมาณ 250,000 ตันต่อปี และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกกุ้งในปี 2548 ลดลงราว 75,000-80,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งในประเทศมูลค่าถึง 20,000 ล้านบาท
- การว่างงาน เกิดการว่างงานจำนวนไม่น้อยจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม ภาคบริการ คาดว่าไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นคนในประเทศ รวมทั้งแรงงานจากอุตสาหกรรมกุ้งจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบ
- ภาวะการคลัง การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยและกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศให้ขาดดุลงบประมาณร้อยละ -0.3 ของ GDP
- ตลาดการเงิน มีผลกระทบไม่มากนัก จะเห็นได้จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้น
มาตรการทางการค้ากับการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ
- องค์การการค้าโลก (WTO) ขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียโดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้มีบันทึกถึงประเทศสมาชิกทั้ง 148 ประเทศ มีเนื้อหาให้พิจารณาทบทวนการผ่อนปรนนโยบายและมาตรการทางการค้าของแต่ละประเทศอย่างรอบคอบและเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประเทศผู้ประสบภัยพิบัติในการลดอุปสรรคทางการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเข้าสู่ตลาดและข้อจำกัดในด้านอื่นๆ ประเทศคู่ค้าต่างๆควรให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในระยะยาวโดยการลด/เลิกข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการค้าสินค้าเกษตร และการเร่งสรุปผลการเจรจารอบโดฮาโดยเร็ว ซึ่งจะสามารถช่วยประเทศที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ได้อย่างมากในด้านเศรษฐกิจ
- สหภาพยุโรปเตรียมนำแผนปรับลดภาษีอากรสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังยุโรปภายใต้โครงการ GSP รอบใหม่ รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม โดยเน้นไปที่อินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา และไทย โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการ GSP ทั้งหมด กำลังพิจารณาทบทวนข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรนำเข้าที่ระดับต่ำ และที่ระดับร้อยละ 0 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ให้ครอบคลุมรายการสินค้ามากขึ้น เช่น สินค้าอาหารทะเล ซึ่งคาดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น และอาจมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายน 2548
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ