อานิสงส์ที่ไทยจะได้จากข้อตกลงเวียดนาม — สหรัฐฯ ตามกระบวนการสมัครเป็นสมาชิก WTO

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 6, 2006 14:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          เมื่อวันพุธที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เวียดนามได้บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ตามกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO โดยหวังว่าสหรัฐฯ จะยอมสนับสนุนเวียดนามในการที่เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกอีกภายในระยะเวลา 2-3 เดือนข้างหน้านี้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศสุดท้ายจาก 28 ประเทศที่ขอเจรจากับเวียดนามเพื่อเรียกร้องให้เปิดตลาดแลกกับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิก WTO โดยความตกลงระหว่างเวียดนาม-สหรัฐฯมีสาระสำคัญดังนี้
1. การลดภาษีสินค้า เช่น สินค้า IT (คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโมเด็ม) สินค้าเคมี เครื่องสำอาง สินค้ายา เครื่องบิน และเครื่องยนต์ของเครื่องบิน รถยนต์ และอุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ สินค้าเกษตร วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ สินค้าไม้
2. ลดมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี เช่น ยกเลิกการกีดกันเดิมที่ไม่ยอมให้มีการนำเข้ารถจักรยานยนตร์ขนาดใหญ่ (ที่เครื่องยนต์มากกว่า 175 cc’s) และภายใน 1 ปี เวียดนามจะปรับปรุงให้มีระบบการนำเข้ารถจักรยานยนตร์ขนาดใหญ่ที่โปร่งใส และเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายแจกจ่ายให้มีความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ เวียดนามจะลดข้อกีดกันที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับสินค้า IT นำเข้า เช่น software และยังจะลด export duties ถึงร้อยละ 51 สำหรับเหล็กและเศษเหล็กที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก และยังยินยอมให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของเวียดนามทำการค้าระหว่างประเทศ (ที่มิใช่เพื่อการใช้ประโยชน์ในราชการ) และเป็นรูปแบบในเชิงพาณิชย์ด้วย
ผลของการเจรจาดังกล่าว เวียดนามจะต้องขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้กับสมาชิก WTO ทุกประเทศสมาชิก WTO รวมทั้งไทย เพราะกฏของ WTO กำหนดว่าต้องไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) และให้ การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (Most-Favoured Nation Treatment : MFN) ทั้งนี้ ในส่วนของไทยไม่ได้เรียกเก็บค่าผ่านประตูจากเวียดนามเนื่องจากเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าที่เวียดนามต้องลดภาษีตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ พบว่าสินค้าเกษตรน่าจะเป็นรายการที่ไทยอาจได้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามรายละเอียดของสินค้าต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ