ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน 2549
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2549 โดยสรุป
จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน 2549 ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนเมษายน 2549 เท่ากับ 136.7
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.9
2.2 เดือนเมษายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 8.7
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2549 โดยเฉลี่ยยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2549 ร้อยละ 2.9 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 9.8, 6.9 และ 1.5 ตามลำดับ
การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้ผลิตดังกล่าว มีผลจากการเปลี่ยนแปลงในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม กล่าวคือ จากสภาพอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะพืชผักและสัตว์มีชีวิตเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ ทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดไม่สอดคล้องกับความต้องการบริโภค ราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ มะนาว ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า สุกร และไก่มีชีวิต
สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำมันเชื้อเพลิงราคายังคงสูงขึ้นมากและอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนเมษายน จากการขัดแย้งกันระหว่างประเทศตะวันตกกับอิหร่าน เรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองมีความตึงเครียดสูง ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราสูง ส่งผลต่อต้นทุนผลิตทำให้สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น ที่สำคัญ เช่น เหล็กประเภทต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง กระสอบพลาสติก) ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้นมาก คือ ทองคำ
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 8.7 มีผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 23.2, 25.3 และ 5.7 ตามลำดับ
หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 23.2 สินค้าสำคัญที่มีราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวเปลือก ส่วนหนึ่งจากมาตรการของภาครัฐ ยางพารา จากความต้องการของตลาดต่างประเทศ
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 25.3 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และแร่สังกะสี เป็นสำคัญ
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.7 สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน และทองคำ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์